สยามคูโบต้า เดินหน้าโครงการ “คูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ เฟส 2” เริ่มเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ เตรียมส่งมอบเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับกลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนเพิ่มอีก 100 กลุ่ม เป้าหมาย 72 จังหวัด ก่อนจัดกิจกรรมประกวด “คูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ อวอร์ด” ชิงรางวัลมูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท หลังจากที่เฟสแรกประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม ส่งมอบเครื่องจักรกลทางการเกษตรไปแล้วทั้งสิ้นมูลค่ารวมเกือบร้อยล้านบาทให้กับสถาบันเกษตรกร 123 กลุ่ม มีเกษตรกรร่วมโครงการกว่า 1 หมื่นราย ใน 48 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรกว่า 1 แสนไร่ นายก อบต.รางจระเข้ กรุงเก่าสุดปลื้ม ที่ทำให้เกษตรกร 7 หมู่บ้านมีรายได้เพิ่มร้อยละ 10
นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า หนึ่งในเจตนารมณ์ของสยามคูโบต้าคือการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้จึงได้จัดทำ โครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ ภายใต้แนวทางโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของภาครัฐ โดยการส่งมอบเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับกลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนเป้าหมายทั่วประเทศ เพื่อให้มีรายได้เพิ่ม สามารถพึ่งพาตนเองได้ พร้อมพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้ดีขึ้น
สำหรับกระบวนการทำงานนั้น สยามคูโบต้าจะเป็นผู้ส่งมอบเครื่องจักรกลการเกษตร ได้แก่ แทรกเตอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วง รถเกี่ยวนวดข้าว รถขุดขนาดเล็ก รถดำนา โรงเรือนเกษตร โดรนเพื่อการเกษตร รวมถึงจัดอบรมการใช้งาน การบำรุงรักษา การบริหารจัดการเครื่องจักรแบบรวมกลุ่ม การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และการบริหารจัดการเงินทุนเพื่อการบำรุงรักษาเครื่องจักรอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งให้คำปรึกษาโซลูชั่นการทำเกษตรของสยามคูโบต้า อาทิ การทำเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) การทำเกษตรปลอดนาหว่าน (Zero Broadcast) การขุดบ่อเพื่อการเกษตร ตลอดจนให้บริการคำแนะนำการดูแลรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรอย่างใกล้ชิดโดยทีมช่างผู้เชี่ยวชาญของสยามคูโบต้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ
ทางด้านหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกกลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการฯนี้ สยามคูโบต้าจะเลือกจากความเข้มแข็งในการรวมกลุ่ม ความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่สยามคูโบต้าสามารถเข้าไปต่อยอดได้ รวมถึงมีผลผลิตของกลุ่มที่ชัดเจน เหมือนกับองค์การบริหารส่วนตำบลรางจรเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนาข้าว มีศักยภาพในการเป็นชุมชนต้นแบบที่มีความพร้อมในการทำเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) และการทำฟางอัดก้อน เพื่อจำหน่ายให้แก่โรงงานปูนซีเมนต์และโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในเครือเอสซีจี สำหรับแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน
ทางสยามคูโบต้าจึงได้สนับสนุน แทรกเตอร์ รุ่น L5018 ติดตั้งอุปกรณ์ KIS จำนวน 2 คัน เครื่องอัดฟาง HB 135 จำนวน 2 เครื่อง และชุดบุ้งกี๋ LA588-1 จำนวน 2 เครื่อง รวมทั้งให้คำปรึกษาด้านโซลูชั่นเกษตรปลอดการเผา พร้อมบริการจากทีมช่างที่มีมาตรฐาน ซึ่งช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนช่วยลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาในพื้นที่ภาคการเกษตร สอดคล้องกับเป้าหมายภาครัฐในการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรให้เป็นศูนย์
โครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ ในเฟส 1 ได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 จนถึงกุมภาพันธ์ 2565 โดยสยามคูโบต้าได้ส่งมอบเครื่องจักรกลทางการเกษตรไปแล้วทั้งสิ้นมูลค่ารวมกว่า 98 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยแทรกเตอร์ 95 คัน อุปกรณ์ต่อพ่วง 446 ชุด รถเกี่ยวนวดข้าว 12 คัน รถดำนา 19 คัน และรถขุดขนาดเล็ก 4 คัน ให้กับกลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนจำนวน 123 กลุ่ม มีเกษตรกรจำนวน 10,900 ราย ใน 48 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตรกว่า103,163 ไร่ที่หลากหลาย อาทิ ข้าวอินทรีย์ ฟางข้าว อ้อย มันสำปะหลัง กาแฟ เป็นต้น
ในเฟสแรกของโครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้น 10% จากการทำเกษตรที่สะดวกและสบายขึ้นผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรและการบริหารจัดการที่ดีผสานองค์ความรู้โซลูชันต่างๆ ช่วยเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
สยามคูโบต้ายังคงดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จึงได้สานต่อโครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ เฟส 2 โดยหลังเดือนเมษายน จนถึงธันวาคม 2565 จะส่งมอบเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับกลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนเพิ่มอีก 100 กลุ่ม เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ รวมถึงการจัดกิจกรรมประกวดคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ อวอร์ด ชิงรางวัลมูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความคืบหน้าในการบริหารจัดการของกลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับเครื่องจักรกลการเกษตรไปแล้วในเฟสแรก
นอกจากนี้สยามคูโบต้ายังมีแผนการต่อยอดโครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ โดยใช้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า (SIAM KUBOTA Community Enterprise) ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบที่มุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ การเกษตร การตลาดและการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการพัฒนาคุณภาพบุคลากร
เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้และพี่เลี้ยงด้านการบริหารจัดการชุมชนให้กับสมาชิกของโครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ เกิดการเรียนรู้ระหว่างชุมชน เชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรที่ช่วยเหลือกันทั้งด้านการขายและการตลาด ใช้พลังของเกษตรกรขับเคลื่อนเกษตรกรด้วยกันเอง สู่การเป็นเครือข่ายเกษตรกรเข้มแข็ง อีกทั้งในอนาคตจะขยายความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมศักยภาพให้ครอบคลุมในทุกมิติ
นายพงศกร มงคลหมู่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรางจรเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากที่ได้รับเครื่องจักรกลทางการเกษตรจากสยามคูโบต้า จึงได้มีการวางแผนและจัดสรรการใช้งานโดยจัดทำประชามติร่วมกับวิสาหกิจชุมชน และสมาชิกเกษตรกรทั้ง 7 หมู่บ้าน ที่อยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลรางจรเข้ เพื่อให้เกษตรกรลงทะเบียน และแจ้งวันเก็บเกี่ยว
ทั้งนี้ทาง อบต.จะจัดลำดับคิวนำเครื่องอัดฟางลงไปทำงานโดยเร็วที่สุด โดยจะจ้างงานแรงงานในชุมชน ทั้งการขับแทรกเตอร์อัดฟางข้าว และขับรถขนส่งฟางก้อนไปส่งยังโรงงานปูนซีเมนต์ และโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในเครือเอสซีจีในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อนำไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน รวมทั้งเจ้าของนาก็จะมีรายได้เพิ่มจากการขายฟางข้าว
จากความสำเร็จที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรตำบลรางจระเข้สามารถอัดฟางก้อนได้วันละ 40 ไร่ ได้ปริมาณฟางอัดก้อน 25-30 ตัน ซึ่งฟางก้อนเหล่านี้จะถูกนำไปจำหน่ายได้ในราคาตันละ 800 บาท และจะนำเงินมาจัดสรรให้กับเกษตรกรในกลุ่ม เป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียน ตลอดจนช่วยงานการกุศลในพื้นที่ ที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรตำบลรางจระเข้ได้ใช้แทรกเตอร์และเครื่องอัดฟางที่ได้รับมาทั้งในตำบลและพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งสามารถช่วยลดการเผาในพื้นที่เกษตร ลดปริมาณฝุ่น PM2.5 และยังสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กว่าที่จะสามารถให้เกษตรกรร่วมโครงการได้ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะการที่จะไปชวนเกษตรกรเข้ามาโดยที่ยังไม่มีอะไรให้เกษตรกรเห็นนั้นลำบากพอสมควรจึงต้องลงมือให้เห็นตัวอย่าง พร้อมมีข้อเสนอ และใช้กฎหมายบ้านเมืองมาคับใช้ด้วยโดยเฉพาะในเรื่องของการเผาแล้วมาปรับเป็นเงิน 2,000 บาท ทั้ง 7 หมูบ้านปรับไปแล้วราว 2 ราย (รายละเอียดตามในคลิป)