กสส.สุดปลื้มปลูกข้าวโพดหลังนารายได้ดีกว่าปลูกข้าว 3 เท่า เชื่อวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ราคาอาจพุ่ง กก.ละ10 บาท

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมสหกรณ์ปลื้ม โครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดหลังนาขยายผลสำเร็จ ทำรายได้สูงกว่าข้าวนาปรังกว่า 3 เท่า ยกสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นต้นแบบเตรียมหนุนสมาชิกปลูก เชื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนมีผลกระทบวัตถุดิบอาหารสัตว์ส่งราคาข้าวโพดอาจสูงถึง 10 บาทต่อ กก.

            นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) เปิดเผยว่า โครงการสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังนาได้ผลเป็นที่น่าพอใจโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ที่สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด ต.บ้านหม้อ อ.พิชัย  จ.อุตรดิตถ์ได้ลงมือปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวนาปรังมาเป็นข้าวโพดหลังนาสามารถสร้างรายได้มากกว่าการปลูกข้าวถึง 3 เท่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สหกรณ์ยังคงเดินหน้าส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาอย่างต่อเนื่องทั้งนี้จากเดิมเกษตรกรปลูกข้าวได้กำไร 1,200 บาทต่อไร่ เมื่อเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดทำให้ได้กำไรเพิ่มเป็น 4,170 บาทต่อไร่

                                                                  อัชฌา สุวรรณนิตย์  

         ดังนั้นกรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ส่งเสริมให้มีการขยายผล  ปัจจุบันมีสหกรณ์หลายแห่งมองข้าวโพดเป็นพืชทางเลือกใหม่  จึงมีสมาชิกสหกรณ์หันมาปลูกข้าวโพดในฤดูแล้งเพิ่มมากขึ้นเฉพาะที่อุตรดิตถ์จาก 2,300 ไร่ เพิ่มเป็น 10,130 ไร่ ประกอบกับสถานการณ์สงครามทั้งยูเครนและเมียนมาร์กระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น จึงเชื่อว่าจะจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

            “ เกษตรกรที่ปรับจากการปลูกข้าวนาปรังมาปลูกข้าวโพดหลังนาแม้จะไม่มากหากเปรียบเทียบกับความต้องการในประเทศที่มีประมาณ  8  ล้านตัน ขณะที่ประเทศไทยผลิตได้เพียง  4-5 ล้านตัน ทำให้ข้าวโพดฤดูแล้งสามารถทำรายได้ที่ดีเมื่อเปรียบเทียบต่อไร่ระหว่างข้าวกับข้าวโพด ซึ่งกสส.ประเมินว่าจากสถานการณ์สงครามที่ยูเครนกระทบต่อการส่งออกพืชทดแทน ได้แก่ ข้าวสาลี และที่เมียนมาร์กระทบต่อการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้ในประเทศขาดแคลนกว่า 3 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าวโพดสูงขึ้นเช่นปลายปีที่ผ่านมาราคาขึ้นไปถึง 8-9 บาทต่อกก.ระดับความชื้น 15 %” นายอัชฌา กล่าว

           รองอธิบดี กสส. กล่าวอีกว่า จากปัญหาเมียนมาร์ เมื่อประกอบกับปัญหาสงครามยูเครน คาดว่าจะดึงข้าวโพดขึ้นไปกว่า 10 บาทต่อกก. ใช้เวลาเพียง 120 วันเท่านั้น  ดังนั้นกสส.จะเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรที่มีธุรกิจรวบรวมข้าวโพดมาช่วยในการรับซื้อและเชื่อมโยงตลาดจากที่ก่อนหน้า กสส.ได้มีงบสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพสหกรณ์หรืองบ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสถานการณ์โควิดอยู่แล้ว

            สำหรับผลการเก็บข้อมูลของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์รายงานว่า สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อจำกัดมีสมาชิกที่สนใจเข้าโครงการเป็นเกษตรกรที่เดิมปลูกข้าวนาปรังจำนวน  36 คนพื้นที่ 735 ไร่ มีต้นทุน4,715 บาทต่อไร่ รายได้ 5,021 บาทต่อไร่ ได้กำไร 306 บาทต่อไร่ โดยเกษตรกรที่กลุ่มนี้ได้สมัครเข้าโครงการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา(ปีการผลิต 2561/62) จำนวน  36 คน พื้นที่ 735 ไร่ ต้นทุนการผลิต 4,625 บาทต่อไร่ ขายผลผลิตข้าวโพดได้ 8,314 บาทต่อไร่ กำไร 3,690 บาทต่อไร่  ในปีการเพาะปลูก 2562/63  เกษตรกรชุดเดิมและสมัครเพิ่มเข้าโครงการ 125 คน พื้นที่ 2,341 ไร่ ต้นทุนการผลิต 4,226 บาท ขายได้ 8,396 บาทต่อไร่ กำไร 4,170  บาทต่อไร่ ทำให้ในปี 2564/65 มีการขยายผลไปในพื้นที่ในจังหวัดอุตรดิตถ์มีเกษตรกรสนใจจำนวน 839 รายพื้นที่ 10,130 ไร่ ขณะนี้ผลผลิตอยู่ระหว่างฤดูการเก็บเกี่ยว

            ด้าน นายบัญชา เมฆนุ้ย ประธานสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ   จำกัด กล่าวว่า เกษตรกรที่เข้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงได้มีการขยายความร่วมมือไปยังสหกรณ์การเกษตรอื่นๆ ที่อยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งโครงการนี้สหกรณ์บ้านหม้อได้เข้าไปดำเนินการทั้งระบบ ใช้พื้นที่ร่วมโครงการประมาณ 3,000  ไร่ซึ่งสหกรณ์ได้ช่วยเหลือและสนับสนุนสมาชิกในโครงการทั้งด้านความรู้และปัจจัยการผลิตทำให้เกษตรกรมีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1,300 กก. เป็นที่น่าพอใจมาก ราคารับซื้อต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 7-8 บาทตามความชื้นของผลผลิต จากราคาที่สหกรณ์ประกันไว้ที่ประมาณ 5 บาทเศษ  ปัจจุบันจังหวัดอุตรดิตถ์ มีสมาชิกสหกรณ์เข้าโครงการ 839 ราย พื้นที่รวม 10,130 ไร่ 

            สำหรับโครงการสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังนาผ่านระบบสหกรณ์ปี 2563/64 ของกรมส่งเสริมสหกรณ์มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ  74 แห่งเกษตรกร 4,503  ราย พื้นที่รวม49,336 ไร่  สามารถรวบรวมผลผลิตได้มูลค่ารวม 155  ล้านบาท แยกเป็นข้าวโพดแบบฝัก 2,445 ตัน มูลค่า 11.65  ล้านบาทและแบบเมล็ด 23,438  ตัน มูลค่า 145.19 ล้านบาท และปีการผลิต 2564/65 มีสหกรณ์สมัครเข้าโครงการ  22 จังหวัด  70 สหกรณ์  พื้นที่ปลูก 62,339 ไร่ เกษตรกร 7,038 รายกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดสรรเงินกู้กองทุนพัฒนาสหกรณ์วงเงิน 58 ล้านบาท เพื่อให้สหกรณ์กู้ยืมไปจัดหาปัจจัยการผลิตช่วยเหลือสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว และขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมผลผลิตเพื่อส่งจำหน่ายให้กับคู่ค้าภาคเอกชน