นักวิทยาศาสตร์ยุโรปเรียกร้องให้ออกกฎหมายเกี่ยวกับพืชที่แก้ไขจีโนมที่ดีกว่าเดิม

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

     All European Academies (ALLEA) ได้เผยแพร่รายงาน ที่เน้นถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดและความปลอดภัยของพืชที่ผ่านการแก้ไขจีโนม ตลอดจนศักยภาพในการช่วยบรรเทาความท้าทายทางการเกษตร แม้จะมีความสำเร็จที่เป็นประโยชน์ดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ในยุโรปยังคงกังวลว่า การออกกฎหมายของสหภาพยุโรปจะขัดขวางการวิจัย ที่จะทำให้ทวีปยุโรปล้าหลังส่วนอื่นๆ ของโลกที่มีกฎระเบียบที่เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับเทคโนโลยีใหม่

    รายงานนี้เป็นบทสรุปจากการอภิปรายในการประชุมสัมมนาสาธารณะ เกี่ยวกับการแก้ไขจีโนมเพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ในเดือนพฤศจิกายน 2562ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย องค์กรภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินและหารือเกี่ยวกับผลกระทบของกฎระเบียบของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาการแก้ไขจีโนมเพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืชในปัจจุบัน

    ส่วนเนื้อหาที่รวมอยู่ในรายงานฉบับนี้ ได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการแก้ไขจีโนมเพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืช และความท้าทายทางกฎหมายในการแก้ไขคำตัดสินของศาลสหภาพยุโรปเมื่อปี 2561ด้วยวิธีทางกฎหมาย ที่มีจุดเด่นของรายงานมีดังต่อไปนี้:

   -กฎหมายของยุโรปควรเน้นที่ผลิตภัณฑ์มากกว่าเชิงกระบวนการเพื่อกำหนดสถานะการกำกับดูแล

   -การแก้ไขจีโนมเป้าหมายไม่ก่อให้เกิดอันตรายเพิ่มเติมต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม และมีความปลอดภัยหรืออันตรายเท่ากับพืชที่มาจากการปรับปรุงพันธุ์แบบปกกติ

   -ข้อจำกัดทางกฎหมายและนโยบายที่ยังคงดำเนินต่อไปอาจขัดขวางการเลือกพืชที่มีความสามารถในการปรับตัวและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

   -ต้นทุนและระยะเวลาในการวิจัยรวมทั้งการปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อบริษัทวิจัยขนาดกลางและขนาดเล็กในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้เทคนิคการปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่

   -เทคโนโลยีขั้นสูงช่วยปรับปรุงพันธุ์พืชที่มีอยู่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดจนนำไปสู่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการเกษตร

    การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียมีความสำคัญในกระบวนการกำหนดนโยบายสำหรับการแก้ไขจีโนม และควรรวมถึงการเฝ้าติดตามทัศนคติของสาธารณชน การขาดข้อมูล และการจัดการข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้งานเฉพาะของการแก้ไขจีโนม

    ครับ ยังไม่เห็นความเป็นหนึ่งของนักวิจัยไทยในการแสดงจุดยืนในเรื่องของเทคนิคการแก้ไขจีโนม

    อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://allea.org/academies-report-reviews-debate-on-genome-editing-for-crop-improvement/