ดลมนัส กาเจ
แดดยามเช้าถูกตัดเหลี่ยมด้วยยอดดอย ลมหนาวแห่งเหมันตฤดูพัดผ่านเป็นระลอก ขณะที่เรายืนยู่ท่ามกลางโอ้มโอบขุนเขาตระหง่านรอบด้าน ณ วิสาหกิจชุมชนศาสตร์พระราชา วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์เชียงราย ตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตใหม่ของเกษตรกร อดีตผู้ที่ไม่เคยมีที่ทำกินเป็นของตัวเองมาก่อน แต่ได้รับการชุบชีวิตใหม่ จากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ.ภายใต้โครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน
นายเอก วรรณประทีป รองผู้อำนวยการ บจธ. บอกว่า โครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน เป็นการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ให้มีที่ดินทำกินและได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มีเกษตรกรรวมกลุ่ม 3 วิสาหกิจชุมชน ซึ่งวิสาหกิจชุมชนศาสตร์พระราชา วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์เชียงราย ที่ตำบลดอยฮางนั้น เป็น 1 ใน 3 ของวิสาหกิจชุมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
เอก วรรณประทีป
ย้อนอดีตพื้นที่บริเวณดอยอินทรีย์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นไม่มีที่ดินทำกินและได้เข้าบุกรุกเพื่อจับจองพื้นที่ทำไร่ ในเขตพื้นที่ป่าไม้ บริเวณโดยรอบดอยอินทรีย์กว่า 800 ไร่ ส่งผลให้สภาพป่าและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย อีกทั้งบริเวณพื้นที่โฉนดโดยรอบเขตป่ามีนายทุนกว้านซื้อที่ดินเพื่อประกอบกิจการจำนวนมาก
ต่อมา บจธ. ได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินจากนายทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินมาทำเกษตร โดยซื้อที่เฟสแรก มีเนื้อที่ประมาณ 38 ไร่ เพื่อนำมาจัดสรรให้กับสมาชิกวิสาหกิจฯ จำนวน 28 ครอบครัว และเฟสที่ 2 ประมาณ 46 ไร่ ให้กับสมาชิกจำนวน 32 ครอบครัว รวมเนื้อที่ประมาณ 84 ไร่ ซึ่งจะจัดสรรที่ดินโดยแบ่งออกเป็นรายละ 1 ไร่ ให้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โยให้สมาชิกจะร่วมกันผ่อนชำระกับ บจธ. ในระยะเวลา 30 ปี ทั้งนี้การใช้ประโยชน์ในที่ดิน จะดำเนินการตามแนวทางของศาสตร์พระราชาหรือเกษตรทฤษฎีใหม่นั่นเอง
ประวัติ จันทร์ศรีรักษา
ด้านนายประวัติ จันทร์ศรีรักษา หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือจาก บจธ.และเป็นวิสาหกิจชุมชนศาสตร์พระราชา วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์เชียงราย บอกว่า เป็นชาวนครสวรรค์ เดิมเป็นข้าราชการสังกัดกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมโครงการเกษียณก่อนอายุ อย่าทำเกษตรแต่ไม่มีที่ทำกินจึงสมัครเข้าโครงการนี้เพื่อทำเกษตรอินทรีย์ปลูกทุกอย่างไปตามฤดูกาล (รายละเอียดในคลิป)