กระบวนการสรรหาผู้สมัครกรรมการดำเนินการ สส .สอ.ส่ออลเวง สมาชิกบางส่วน ฮือต้านวิธีจับฉลากชิงตำแหน่งบริหารองค์กรระดับประเทศ ที่ต้องดูแลสินทรัพย์นับพันล้าน
รายงานข่าวแจ้งว่า ทางสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สหกรณ์สมาชิกของชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สส.ชสอ.) กำหนดจะมีการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ณ ปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2561 ในวันที่ 30 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศููนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เพื่อรายงานผลการดำเนินงาน และมีวาระสำคัญ คือ การเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการ ชุดที่ 5 จำนวน 30 คน จาก 7 สาขาวิชาชีพ โดยมีการตั้งแต่งคณะกรรมการการเลือกตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สหกรณ์สมาชิกของชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย (กกต.สส.สอ.) จำนวน 9 คน ขึ้นมา ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเป็นกรรมการดำเนินการ(กกต.) โดยมีนายโกศล จุ้ยมี เป็นประธาน เมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่ง กกต. ชุดนี้ เป็นอดีตกรรมการดำเนินการที่หมดวาระ มาทำหน้าที่ กกต. และมีการแต่งตั้งโดยนายก๊ก ดอนสำราญ นายก สส.สอ.
อย่างไรก็ตาม กระบวนการสรรหาผู้สมัครเป็นกรรมการดำเนินการ จาก 7 สาขาวิชาชีพ ไม่เป็นที่ยอมรับของสมาชิกกว่าครึ่ง จากจำนวนสมาชิกทั้งหมดเกือบ 3 แสนคน ด้วยวิธีการสรรหาโดย “สังคมมิติ” กล่าวคือ การให้ผู้สมัครเป็นกรรมการดำเนินการจับฉลาก เพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการ นอกจากนี้ ตามข้อกฎหมายคณะกรรมการดำเนินการ จะดำรงตำแหน่งได้คนละ 2 วาระๆ ละ 2 ปี และจะต้องหยุดพัก 1 ปี ถึงจะลงสมัครเป็นกรรมการดำเนินการได้ แต่ทั้งนี้ในกฎหมายมีการระบุข้อยกเว้นว่า หากกรรมการดำเนินการที่ดำรงตำแหน่งครบ 2 วาระแล้ว หากมีความประสงค์จะลงสมัครอีกครั้ง จะต้องเข้าสู่กระบวนเลือกตั้ง โดยผ่านการรับรองจากสมาชิก 2 ใน 3 ของสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปี
แหล่งข่าวท่านหนึ่งบอกว่า วิธีการจับฉลาก เป็นแนวคิดของบางกลุ่ม ที่ต้องการสืบทอดอำนาจ เพื่อเปิดทางให้พวกพ้องตัวเองได้เข้ามาเป็นกรรมการบริหาร ซึ่งปัจจุบัน สส.สอ. มีเงินทุนหมุนเวียนเข้ามาจากสมาชิกเกือบ 3 แสนคน จำนวน 1,440 ล้านบาท
สำหรับสัดส่วนคณะกรรมการดำเนินการ จากเดิมจะมีตัวแทนแต่ละสาขาวิชาชีพ จำนวน 3 คน แต่ไม่รวมนายกสมาคม และเลขานุการ ที่จะมาจากวิชาชะใดก็ได้ แต่สัดส่วนคณะกรรมการดำเนินในปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนใหม่ คือ วิชาชีพครู จำนวน 10 คน เนื่องจากให้เหตุผลว่า มีจำนวนสมาชิกทั่วประเทศมากกว่าสาขาวิชาชีพอื่น รองลงมาวิชาชีพสาธารณสุข จำนวน 4 คน ส่วนวิชาชีพตำรวจ ทหาร รัฐวิสาหกิจ และข้าราชการไทย จำนวนสาขาละ 3 คน คณะกรรมการกลาง จำนวน 2 คน จากสาขาวิชาชีพใดก็ได้ วิชาชีพสถานประกอบการ จำนวน 1 คน และนายกสมาคม จำนวน 1 คน จากสาขาวิชาชีพใดก็ได้