Q : นโยบายและเป้าหมายในการช่วยสมาชิก
ปัจจุบันมีสมาชิก 300 กว่าราย ซึ่งส่วนใหญ่ 70% เป็นผู้ประกอบการ SMEs นโยบายของเราพยายามรวบรวมองค์ความรู้ เพื่อเป็นคลังความรู้การพัฒนาในมิติด้านเศรษฐกิจในระดับจังหวัด และเสริมสร้างรายได้ให้กับองค์กร นอกจากนี้ พยายามผลักดัน นักธุรกิจรุ่นใหม่ (YEC) ให้เข้ามาช่วยกันทำงาน ผู้ใหญ่คิด เด็กทำ ผู้ใหญ่สนับสนุน
สำหรับปัญหาหลักของ SMEs ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ เรื่องเงินทุน ซึ่งได้ช่วยประสานกับสถาบันการเงิน เช่น SME แบงก์ ธนาคารกสิกรไทย และล่าสุดธนาคารออมสิน มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกัน ตั้งแต่ให้เงินทุนดอกเบี้ยต่ำ หรือลดหย่อนเงื่อนไขลงมา ถ้าเป็นสมาชิกหอการค้า ขณะที่กองทุน SMEs 2 หมื่นล้าน ของกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการจะต้องเข้าเงื่อนไข 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไม่ใช่เรื่องง่าย
Q : ปัญหาของอุตสาหกรรมประมง
ตั้งแต่สหภาพยุโรป (อียู) ให้ใบเหลืองไทย มี IUU เข้ามา อุตสาหกรรมประมงได้รับความเสียหาย และผลกระทบมาก โดยข้อบังคับแต่ละอย่างที่รัฐบาลออกมา ประมงบางแห่งรับไม่ทันต้องเลิกกิจการไป ทั้งปัญหาแรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ เรือประมงที่ไม่ได้ตามเกณฑ์ ต้องจอดกันหมด เรือบางลำใบอนุญาไม่สมบูรณ์ออกไม่ได้ ที่ผ่านมาปัญหาประมงมีการหารือกันในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) มาตลอด
Q : การสร้างแบรนด์สินค้าเกษตร
ถ้าพูดถึงสินค้าเกษตรแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ พวกผัก และผลไม้ รายได้หลักมาจาก 1) มะพร้าวน้ำหอม มียอดขาย 900 กว่าล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอมของ อ.บ้านแพ้ว ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และมีการวางแผนเรื่องการทำแบรนดิ้งให้คนรู้จักว่า เป็นมะพร้าวน้ำหอม บ้านแพ้ว เพราะแบรนด์ในท้องตลาดไม่มีแบรนด์ของจังหวัด
2) กล้วยไม้ มีพื้นที่ปลูก 3,800 ไร่ มียอดขาย 500 ล้านบาทต่อปี 3)มะนาว ทำรายได้พอสมควร โดยเฉพาะมะนาวที่ปลูกบริเวณ อ.บ้านแพ้ว 4) ลำไย มีพันธุ์เพชรสาคร เนื้อหนา แห้ง หวานกรอบ และ 5) ฝรั่ง เป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่ออีกอย่าง
ส่วนเกษตรกรที่เป็นประมง เราเป็นศูนย์กลางการรับซื้อและแปรรูปอันดับ 1 ของประเทศ ส่วนประมงน้ำจืดที่สร้างรายได้ คือ “ปลาสลิด” มีพื้นที่เลี้ยงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในไทย 3,000 ไร่ ไม่ใช่ที่บางบ่อ สมุทรปราการแล้ว กุ้งขาวแวนนาไม มีพื้นที่เลี้ยง 6,000 กว่าไร่ และหอยแครง มีพื้นที่เลี้ยง 11,000 ไร่ จะเลี้ยงคู่กับกุ้ง-ปู และ
กุ้งกุลาดำ วันนี้สินค้าประมงที่ผ่านตลาด (ยกเว้นรายใหญ่ที่แปรรูปส่งออก) มียอดขายประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ถ้าเป็นภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบ มี 2.5 แสนล้านบาทต่อปี หากแยกเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปประมง 7-8 หมื่นล้านบาทต่อปี แม้ IUU เป็นปัญหาหลักใหญ่ต่อเนื่องมา 3 ปี แต่ภาคอุตสาหกรรมประมงและธุรกิจเกี่ยวเนื่องสามารถปรับตัวได้
Q : แนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
จังหวัดมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก แต่ขยะไม่ได้เกิดจากภาคอุตสาหกรรม แต่มาจากคนที่มาพร้อมกับอุตสาหกรรม ขยะเกิดขึ้นจากชุมชน ขยะที่มาตามน้ำ โดยสมุทรสาครเป็นจังหวัดปลายน้ำที่จะไหลลงสู่ทะเล ส่งผลกระทบอย่างชัดเจน ซึ่งหอการค้าร่วมมือกับหลายหน่วยงานของภาครัฐว่าจะช่วยกันอย่างไรเพื่อลดปริมาณ
ขยะที่ไหลมาถึงปลายน้ำ เช่น การไปปลูกจิตสำนึกทั้งในชุมชน สมาชิกของหอการค้า และแรงงานต่างด้าวให้ช่วยกันรักษาความสะอาด ส่วนการทำโรงไฟฟ้าจากขยะมีการพูดถึงกัน แต่คงเกิดยาก เพราะขยะประเทศไทยบริหารจัดการโดยท้องถิ่น และเราไม่มีการส่งเสริมให้คัดแยกขยะครัวเรือน
ปมใหญ่แรงงานต่างด้าว
แรงงานต่างด้าว ถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของจังหวัดสมุทรสาคร ทั้งที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย และอาจจะยังแอบแฝง ประมาณการว่านับล้านคน ที่ผ่านมามีปัญหาหลากหลายที่ต้องร่วมกันหาทางออก “ชาธิป ตั้งกุลไพศาล” ประธานนักธุรกิจรุ่นใหม่ (YEC) ได้เปิดเผยถึงปัญหา และอนาคตที่ต้องเผชิญว่า วันนี้ภาคธุรกิจภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดพยายามปรับตัวกันตั้งแต่ปีที่ผ่านมา การใช้แรงงานต่างด้าวต้องผ่านระบบ MOU เพราะทำให้ผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการบริหารแรงงานต่างด้าวได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องกลัวปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวเคลื่อนย้ายเหมือนในอดีต
แต่การให้แรงงานทั้งหมดเข้าสู่ระบบ MOU ทันที กลายเป็นปัญหาและอุปสรรคอย่างมากในภาคอุตสาหกรรม ต้องใช้เวลา เรามีแรงงานต่างด้าวที่คาดว่าไม่ได้อยู่ในระบบ MOU ไม่น่าจะต่ำกว่า 3 แสนคน กรณีที่สอง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่มีความแน่นอนหรือชัดเจน เมื่อทำ MOU นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นภาระ 3 ปีที่ต้องแบกรับจ่ายเงินต่อคนทุกเดือน
ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนพยายามแก้ปัญหา ไม่มีใครอยากมีปัญหา เพราะหากโดนจับค่าปรับสูงมาก ทางออกในการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ดีที่สุดมีอยู่ทางเดียว คือ การพยายามใช้เครื่องจักรหรือนวัตกรรมเข้ามาแทนที่ แต่ไม่สามารถใช้ทดแทนได้ 100%
ดังนั้น รัฐบาลต้องกลับมาส่งเสริม 1) การสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมาลงทุนด้านเครื่องจักรมากขึ้น 2) รัฐบาลต้องส่งเสริมเรื่องทักษะแรงงานเรื่องประสิทธิภาพให้แรงงานต่างด้าวทำงานได้ดีขึ้น
เพราะวันนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานยังเน้นฝึกอาชีพให้คนไทย 100% แต่แรงงานคนไทยไม่ต้องการทำงานกรรมกรอีกต่อไป แรงงานคนไทยไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศแน่นอน ถ้าหากสามารถกันงบประมาณส่วนหนึ่งมาพัฒนาแรงงานต่างด้าวตามระบบ MOU ในแต่ละบริษัท ผมเชื่อว่าจะทำให้ทุกบริษัทสามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพได้อีกมาก
ผมกำลังทำโครงการร่วมกับวิทยาลัยชุมชนให้หาครูชาวเมียนมาที่พูดไทยเก่ง แล้วหาหลักสูตรมาฝึกพนักงานที่เป็นแรงงานต่างด้าวให้คิดรักองค์กร ให้รักประเทศไทย ทำอย่างไร และสอนว่า ทำไมตัวแรงงานต้องพัฒนาตนเอง อันนี้จะทำเป็นโมเดลแบบอย่าง หากประสบผลสำเร็จจะคุยกับผู้ประกอบการรายอื่นที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน กระจายออกไป เพราะในอนาคตแรงงานที่มีทักษะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ
วันนี้ผมห่วงว่าจะทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในพื้นฐานที่เราต้องจ่ายแรงงานต่างด้าวเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำของคนไทย แต่สิ่งที่เราได้คือ ประสิทธิภาพของผลผลิตน้อยลง และแรงงานต่างด้าวไม่สามารถสื่อสารได้เท่ากับคนไทย อันนี้เป็นจุดอ่อน ซึ่งถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับเขาวันนี้ จะกลายเป็นปัญหาหลักใหญ่ของเราในอนาคต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ