นัดถกด่วน 3 ผู้ว่าฯรับมือ”ปราจีนบุรี-นครนายก”ส่อวิกฤต

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                                    ภาพจาก:isranews.org

แผนที่ One Map ชี้ปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ปราจีนบุรี นครนายกช่วง 3 วันนี้ สทนช.นัดประชุมคณะทำงานอำนวยการน้ำฯด่วน 10 กันยายน 2561นี้ พร้อมหารือผู้ว่าฯ 3 จังหวัด และหน่วยเกี่ยวข้องร่วมบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือผลกระทบ จับตาเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี คาดฝนหนักอีกระลอกช่วงปลายกันยายน-ต้นตุลาคมนี้

         นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ณ วันที่ 8 กันยายน 61 ว่า วันนี้มีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 25 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู อุดรธานี มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร โดยปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยมีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ จ.เชียงราย 67 มม. น่าน 53 มม. ภาคตะวันออก จ.ปราจีนบุรี 37 มม. ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี 47 มม. อำนาจเจริญ 43 มม. ยโสธร 40 มม. ศรีสะเกษ 39 มม. สกลนคร 36 มม. ร้อยเอ็ด 35 มม. ภาคใต้ จ.สตูล 101 มม. ชุมพร 74 มม.

[adrotate banner=”3″]

         ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ฝนคาดการณ์ล่วงหน้า 3 วัน จากแผนที่ one map ของศูนย์เฉพาะกิจฯ พบว่า แนวฝนจะเริ่มเคลื่อนที่เข้าจ.ปราจีนบุรี นครนายก ในช่วงวันที่ 8 – 10 กันยายนนี้ ปริมาณฝนเฉลี่ย 50 – 70 มม./วัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในเขื่อนและระดับน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรี และนครนายก ซึ่งในวันจันทร์ที่ 10 กันยายนนี้สทนช. นัดประชุมหารือคณะทำงานอำนวยการน้ำฯ โดยมีนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาสทนช.เป็นประธาน

          ทั้งนี้เพื่อหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อทบทวนแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การป้องกัน และช่วยเหลือพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบด้วย รวมถึงหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำเขื่อนแก่นกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งแผนที่ One Map คาดการณ์ปริมาณฝนที่จ.เพชรบุรี จะเริ่มมีฝนเพิ่มขึ้นช่วงปลาย กันยายน – ต้นตุลาคม นี้ เพื่อบริหารจัดการน้ำจากปริมาณฝนที่ตกเพิ่มเติมทั้งเหนือเขื่อนและทางตอนล่างของพื้นที่ ร่วมกับน้ำที่ต้องระบายจากเขื่อนที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 736 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 104% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 9.47 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออกวันละ 14.69 ล้าน ลบ.ม. น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 58 ซม.ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำให้น้อยที่สุดด้วย

              สำหรับพื้นที่ภาคกลางลุ่มเจ้าพระยาไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากศูนย์เฉพาะกิจฯได้คาดการณ์แนวโน้มล่วงหน้า และได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ลงเนื่องจากปริมาณความจุของสองเขื่อนในปัจจุบันยังรองรับปริมาณฝนที่ตกลงมาได้อีกมาก โดยขณะนี้ กฟผ.ได้ปรับลดการระบายน้ำที่เขื่อนสิริกิติ์ เป็นวันละ 9 ล้าน ลบ.ม. จากแผนวันละ 12 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันนึ้ถึง 10 ก.ย. 61 และเขื่อนภูมิพลระบายวันละ 5 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้กรมชลประทานดำเนินการควบคุมอัตราการระบายน้ำให้อยู่ที่ 650 ลบ.ม./วินาที

              ปัจจุบันอัตราการระบายอยู่ที่ 651 ลบ.ม./วินาที ลดการระบายจากเมื่อวาน 771 ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในพื้นลุ่มต่ำของสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่แม่น้ำโขงพบว่ามีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลง ปัจจุบันมีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งใน 2 จังหวัด คือ แม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร และอ.เซกา จ.บึงกาฬ ขณะที่แม่น้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีแนวโน้มทรงตัว ส่วนบริเวณ จ.หนองคาย จ.นครพนม แนวโน้มทรงตัวถึงลดลง คาดสถานการณ์น้ำโขงจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติประมาณปลายเดือนนี้