ม.อุบลฯหนุนเลี้ยงจิ้งหรีด ดันเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์

ม.อุบลฯหนุนเลี้ยงจิ้งหรีด ดันเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์

  •  
  •  
  •  
  •  

แมลงนับเป็นแหล่งอาหารโปรตีนอีกแหล่งหนึ่งและจะเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญสำหรับมนุษยชาติในอนาคต โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ให้การยอมรับแมลงกินได้เป็นแหล่งอาหารเสบียงสำรองที่สำคัญของมนุษย์

แมลงนับเป็นแหล่งอาหารโปรตีนอีกแหล่งหนึ่งและจะเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญสำหรับมนุษยชาติในอนาคต โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ให้การยอมรับแมลงกินได้เป็นแหล่งอาหารเสบียงสำรองที่สำคัญของมนุษย์ เนื่องจากแมลงกินได้เป็นแหล่งโปรตีนที่ถูกและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีวัฒนธรรมการบริโภคแมลงอยู่ก่อนแล้ว และปรากฏมีแมลงหลายชนิดที่ยังคงนิยมบริโภคในปัจจุบัน  จิ้งหรีดเป็นหนึ่งในแมลงกินได้ที่น่าสนใจ เนื่องจากจิ้งหรีดได้รับความนิยมบริโภคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมานาน และเริ่มมีการบริโภคกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปที่มีการเปิดรับ และนิยมบริโภคจิ้งหรีดมากขึ้นมาก

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีการวิจัยเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยง และแปรรูปจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารมาแล้วระยะหนึ่ง โดยกิจกรรมในโครงการมีทั้งส่วนของการศึกษาพัฒนาสายพันธุ์จิ้งหรีดเพื่อการเพาะเลี้ยง การพัฒนากระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดในลักษณะฟาร์ม  การส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริม

น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) เปิดเผยว่า สอว.ให้การสนับสนุนการนำจิ้งหรีดมาเป็นแหล่งโปรตีน เพราะจิ้งหรีดมีประโยชน์มากมาย โดยประกอบด้วยโปรตีน ประมาณ 12.9% ไขมัน ประมาณ 5.54% และคาร์โบไฮเดรต ประมาณ  5.1% นอกจากนี้จิ้งหรีดยังเป็นแมลงที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยแม่พันธุ์หนึ่งตัว สามารถให้ลูกได้ถึง 1,000 ตัว ใช้เวลาเลี้ยงไม่นาน คือ ประมาณ 30-45 วัน สามารถเพาะเลี้ยงในลักษณะฟาร์มเล็ก และขนาดใหญ่ได้ อีกทั้งในการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดนั้น ยังใช้พลังงานและทรัพยากรน้อยกว่าการเพาะเลี้ยงฟาร์มปศุสัตว์ทั่วไป และใช้แรงงานไม่มากอีกด้วย ที่สำคัญคือผู้บริโภคคุ้นเคยกับการบริโภคแมลงชนิดนี้อยู่แล้ว จึงสามารถส่งเสริมและทำตลาดได้ไม่ยากนัก

รศ.ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ข้อมูลว่า โครงการพัฒนาจิ้งหรีดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบูรณาการความรู้สู่ชุมชนเพื่อพัฒนาอาชีพและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีการวิจัยเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยง และแปรรูปจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารมาแล้วระยะหนึ่ง ทั้งส่วนของการศึกษาพัฒนาสายพันธุ์จิ้งหรีดเพื่อการเพาะเลี้ยง การพัฒนากระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดในลักษณะฟาร์ม โดยมุ่งไปสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาให้การสนับสนุน ต่อ ยอดในส่วนของการยกระดับการวิจัยไปสู่ตลาดและการสร้างผู้ประกอบการใหม่จากผลิต ภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีดนี้

ผศ.ดร.พรทิพย์ ไววุฒิ ผู้ช่วยอธิการ บดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการพัฒนาจิ้งหรีดนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาจิ้งหรีดให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ และสร้างอาชีพใหม่ให้เกษตรกร ในส่วนของการพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้พัฒนากระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดปลอดภัย และนำไปฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร พร้อมทำการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม ปัจจุบันมีศูนย์ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดกระจายอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี และศรีสะเกษ โดยเลี้ยงในลักษณะฟาร์มขนาดเล็ก ในบ่อซีเมนต์ บ่อหนึ่งบ่อสามารถเก็บจิ้งหรีดได้ประมาณ 10 กิโลกรัม และราคาจำหน่ายประมาณกิโลกรัมละ 150–200 บาท ทั้งนี้เกษตรกรที่เข้าโครงการสามารถมีรายได้ตั้งแต่ 5,000–20,000 บาทต่อเดือน ที่สำคัญ ยังได้เน้นการนำเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การพัฒนากระบวนการสกัดสารสำคัญ เช่น กรดอะมิโนแอซิด โปรตีน ไขมันกลุ่มที่มีประโยชน์จากจิ้งหรีด เป็นต้น ทั้งนี้ได้มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่พัฒนาขึ้นมาได้แล้วจำนวนหนึ่ง เช่น ผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนจากจิ้งหรีด ช็อกโกแลตจิ้งหรีด ผงโปรตีนสกัดจากจิ้งหรีด เป็นต้น

จะเห็นว่าแนวคิดของโครงการวิจัยพัฒนาจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารแห่งอนาคตแบบครบวงจรนั้น เป็นแนวคิดของการพัฒนาแบบครบวงจร โดยเน้นการสร้างเศรษฐกิจฐานราก และการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมการแปรรูปและยกระดับจิ้งหรีดให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ต่อไป.

ที่มา  :  เดลินิวส์: อ่านเพิ่มเติม  :https://www.dailynews.co.th/agriculture/658298