ซุ่มออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 629) พ.ศ.2560 ใช้แทนพระราชกฤษฎีกาฉบับเก่า..ออกมาแบบเงียบๆ แทบไม่มีใครรู้ ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว เนื้อหาโดยรวม ชาวนาไม่ต้องเสียภาษีเหมือนเดิม ส่วนเกษตรกรประเภทอื่นต้องจ่ายภาษีเงินได้หมด…แต่มีการปรับแก้ให้ได้เสียภาษีมากขึ้นกว่าเดิม
กฎหมายเก่า เกษตรกรที่เสียภาษีได้สิทธิหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้พึงประเมิน ในอัตราเหมาจ่าย 85% หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ทำเกษตรขายผลผลิตได้เงินปีละ 100 บาท สรรพากรให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 85 บาท รายได้ที่เหลือ 15 บาท ถึงจะนำไปคิดคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐ
แต่กฎหมายใหม่ให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้แค่ 60% เกษตรกรขายของได้ 100 บาท หักค่าใช้จ่ายได้ 60 บาท ที่เหลือ 40 บาท ต้องนำไปคำนวณภาษี…เกษตรกรต้องจ่ายภาษีหนักกว่าเก่า “แม้สภาเกษตรฯ เคยทำหนังสือเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีถึง 3 ฉบับ แต่ไม่มีอะไรคืบหน้า เรื่องถูกส่งต่อไปยังกระทรวงการคลัง แทนที่จะหาทางช่วยเหลือ สรรพากรกลับบอกเกษตรกรจะไม่ต้องเสียภาษีหากมีหลักฐาน เอกสาร ใบเสร็จ มาแสดงว่ามีค่าใช้จ่ายเกินกว่าร้อยละ 60 ได้ แต่ความเป็นจริง ค่าใช้จ่ายหลายอย่างในภาคเกษตร ค่าจ้างแรงงาน ค่าข้าวค่าน้ำเลี้ยงคนงาน ไม่มีบิลเอกสารหลักฐาน ฉะนั้นเราจึงเตรียมยื่นหนังสือต่อนายกฯในการประชุม ครม.วันที่ 31 ก.ค.นี้ หากยังไม่มีสัญญาณใดๆ เราหารือกันอีกครั้งหลังสิ้น ก.ย.นี้”
สิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ บอกถึงมติของที่ประชุมเครือข่ายเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายภาษีฉบับใหม่..เพราะสร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู โคนม โคเนื้อ ได้รับผลกระทบมากที่สุด
เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนจากหลายทาง ภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ภาษีอาหารและยา ที่จัดเก็บจากต้นทางอยู่แล้ว แล้วไหนต้องเผชิญกับวิกฤติราคาหมูตกต่ำ ซ้ำสุ่มเสี่ยงรัฐจะนำเข้าหมูสหรัฐฯ หากมาเก็บภาษีแบบนี้อีก ผู้เลี้ยงรายย่อยล้มหายตายจากแน่
เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โคเนื้อ ได้รับผลกระทบจากมาตรการ FTA นำเข้าเนื้อจากออสเตรีย การนำเข้าเนื้อเถื่อนจากอินเดีย และการนำเข้าเครื่องในวัว ยังไม่รวมความเสี่ยงต่างๆที่เกษตรกรล้วนต้องเผชิญ ทั้งฟ้าฝน โรคระบาด ภัยธรรมชาติ ความผันผวนด้านราคา
“ไม่รู้สรรพากรไปเอาตัวเลขต้นทุนมาจากไหน เพราะต้นทุนที่แท้จริงในการผลิตทางการเกษตรอยู่ที่ 82-85% ของรายได้ ตัวเลขนี้ไม่ได้โมเม สอดคล้องกับข้อมูลเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรกร ปี 55-59 ของสำนักงาน เศรษฐกิจการเกษตร ที่ระบุว่า เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายจริงต่อรายได้เฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ 82.56% ไม่ใช่แค่ 60%”
เป็นปริศนาของคำถามที่ต้องการคำตอบ… เพราะไม่อยากมโนไปเองว่ากะลังถังแตกถึงทำกับเกษตรกรได้เยี่ยงนี้. กรวัฒน์ วีนิล
ที่มา : ไทยรััฐ : อ่านเพิ่มเติม :https://www.thairath.co.th/content/1342130