“เวียดนาม” จีบไทยลงทุนเกษตร ปั้น “อาเซียนแบรนด์”

  •  
  •  
  •  
  •  

มาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบการค้าโลก ได้สร้างความกังวลให้นักธุรกิจที่ต้องตระหนักถึงความร่วมมือเพื่อความอยู่รอดมากขึ้น แม้กระทั่ง “ภาคเกษตร” ที่เป็นหัวใจสำคัญของประเทศอาเซียน

ล่าสุดทางสถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม ประจำประเทศไทย ได้จัดงาน “Kick off ASEAN : สินค้าเกษตร” เชิญชวนนักลงทุนไทยไปลงทุนด้านการเกษตรที่ประเทศเวียดนาม เพื่อร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินค้าเกษตร โดยมีคณะผู้แทนจากเวียดนามกล่าวถึงโอกาสการค้าการลงทุน พร้อมเชิญชวนเข้าร่วม “HORTEX Vietnam 2019” งานประชุมและนิทรรศการนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับนานาชาติ ด้านพืชสวน ผัก ผลไม้ และดอกไม้ ครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม ปี 2019

นางลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอล เอ็กซิบิชั่น แอนด์ คอนเวนชั่น เซอร์วิส กล่าวว่า พืืชสวน ผักผลไม้ และดอกไม้ ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักธุรกิจไทยเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนามจาก 439 ล้านดอลลาร์ ในปี 2009 เพิ่มเป็น 3.5 พันล้านดอลลาร์ ในปีก่อน และครึ่งปีแรกของปีนี้ส่งออกได้ถึง 2 พันล้านดอลลาร์ เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 19.70%

ขณะที่นายดิน หว่าน เอือง ประธานสมาคมพืชผักและผลไม้ (VINAFRUIT) กล่าวว่า “หากนักธุรกิจต้องการไปเร็วให้ไปคนเดียว แต่ถ้าอยากไปได้ไกลต้องเดินไปด้วยกัน”

โดยยึดมั่นว่า ทั้งไทยและเวียดนามจะร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับสินค้าเกษตร รัฐบาลเวียดนามออกกฎระเบียบเพื่อสร้างบรรยากาศในการลงทุน และใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้เต็มที่ เช่น การยกเว้นภาษีค่าเช่าที่ดินสำหรับการเกษตรนาน 15 ปี และปีที่ 16 เป็นต้นไป ลดภาษี 50%

สำหรับการทำเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเวียดนามยกย่องให้ไทยเป็นอันดับ 1 ในการทำเกษตรในพื้นที่เขตร้อน ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญในการจัดการกับความเสี่ยง ทั้งด้านการแปรรูปและแพ็กเกจกิ้ง ขณะที่รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการทำ “สมาร์ทฟาร์ม” หรือการเกษตรแบบก้าวหน้า เน้นการทำน้อย แต่ให้ผลผลิตที่มากขึ้น ต่างจากการเกษตรแบบเดิมที่ผลผลิตต้องพึ่งพาสภาพอากาศเป็นหลัก

“แม้ว่าปัจจุบันจีนคือกลุ่มนักลงทุนอันดับ 1 ของเวียดนาม และญี่ปุ่น อันดับ 2 ในด้านเกษตร แต่ว่าส่วนใหญ่จะถนัดการทำเกษตรแบบพืชเมืองหนาว ซึ่งจะเห็นว่าบางพื้นที่เขตหนาวของเวียดนาม เช่น ทางตอนเหนือที่มีการปลูกเมล็ดกาแฟจะเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ โดยหลายปีมานี้คุณภาพและปริมาณการส่งออกเมล็ดกาแฟของเวียดนามแซงหน้าเมล็ดกาแฟของบราซิลไปแล้ว”

ประธาน VINAFRUIT ระบุว่าปัจจุบันเป็นการค้าที่ต้องพึ่งพากันและกันสูง การเจรจาการค้าแบบรายประเทศอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดอีกต่อไป หากไทยและเวียดนาม สามารถร่วมกันสร้างแบรนด์ในนาม “อาเซียนแบรนด์” ทั้งยังหมายถึงความสามารถในการขยายตลาดในภูมิภาคอื่นเพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน

ขณะที่ศักยภาพของพื้นที่เชื่อมต่อเวียดนามและไทย เช่น เส้นทาง R9 ที่เชื่อมโยง 4 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา ไทย สปป.ลาว และเวียดนาม กับเส้นทาง R12 ที่เชื่อมไปจนถึงจีนตอนใต้ สามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางเหล่านี้ได้ เช่น ไทยส่งออกสินค้าเกษตรเข้ามาในเวียดนาม หรือการใช้เวียดนามเป็นฐานในการเพาะปลูก เพื่อส่งออกต่อไปยังจีน รวมถึงประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และตะวันออกกลาง เป็นต้น

ส่วนนางจาง ไท ทัน ทูตการค้า สถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประชากรเวียดนามมีมากถึง 95 ล้านคน ทำอาชีพเกษตรกรรมถึง 70% ขณะที่ในไทยมีเพียง 25-30% เท่านั้น ด้วยจำนวนประชาชนวัยพร้อมทำงานที่มากกว่าไทย, ค่าจ้างแรงงานถูก (ระดับปริญญาตรีเงินเดือนราว 7,000 บาท), บุคลากรมีคุณภาพ และมีพื้นที่ว่างเพื่อรองรับการเพาะปลูก ทั้งยังมีสภาพดินและอากาศที่หลากหลาย จึงเป็นโอกาสของไทย และภาคเกษตรเวียดนามที่ได้รับการพัฒนาได้ไกลกว่านี้

ทูตการค้าฯเวียดนามกล่าวว่า การเกษตรคือกระดูกสันหลังสำหรับไทยและเวียดนาม โดยเฉพาะ “ข้าว” ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีบทบาทมากในเวทีการค้าโลก หากทั้งสองประเทศร่วมกันพัฒนาข้าวเพื่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ และมีคุณภาพที่ดีขึ้น มากกว่าการมองว่าต่างเป็น “คู่แข่ง” และช่วยกันผลักดันให้เกิดแบรนด์ของอาเซียน และเชื่อว่าจะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียน ที่รวมถึงไทยและเวียดนามสามารถก้าวขึ้นเป็นภูมิภาคทรงอำนาจที่ก้าวได้ไกลกว่านี้

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ : https://www.prachachat.net/aseanaec/news-193756