ไม้ยางแปรรูปวิกฤตราคาดิ่งไม่หยุด ตรังปิดโรงงาน50%-วอนรัฐหนุนใช้ในประเทศ

  •  
  •  
  •  
  •  
วิกฤตราคา – อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราของประเทศไทย ได้รับผลกระทบหนักจากราคาที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องกว่า 9 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2560ถึงปัจจุบัน สาเหตุสำคัญจากนโยบายการโค่นยาง และการพึ่งพาตลาดหลักจีนมากเกินไป

อุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูปวิกฤตหนัก 9 เดือนอ่วม ราคาดิ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ วอนรัฐบาลอุ้มส่งเสริมการใช้ภายในประเทศ โดยเฉพาะหนุนหน่วยงานรัฐใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางภายในสถาบันการศึกษา-โรงเรียน พร้อมขอความชัดเจนนโยบายโรงไฟฟ้าชีวมวล ด้านคลัสเตอร์ยาง จ.ตรังเผยโรงงานแปรรูป 30 ราย ปิดกิจการชั่วคราวไปกว่า 50% แถมยังอาจทยอยปิดต่อเนื่อง

นายวิถี สุพิทักษ์ อุปนายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาไม้ยางพาราที่ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีทิศทางว่าราคาจะดีขึ้น ล่าสุดขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,000-40,000 บาทต่อไร่ ลดลงเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงที่ราคาดีเคยขึ้นไปประมาณ 50,000-60,000 บาทต่อไร่ โดยปัจจัยสำคัญมาจากการโค่นต้นยางจำนวนมาก บางปีมีปริมาณการโค่นต้นยางพุ่งขึ้นไปสูงถึงประมาณ 400,000-500,000 ไร่ เพื่อหันไปปลูกปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ฯลฯ ทั้งที่นโยบายการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีเป้าหมายโค่นประมาณ 300,000-350,000 ไร่ต่อปี ส่งผลให้ไม้ยางพาราล้นตลาด

ดังนั้นทางสมาคมจึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนการใช้ไม้ยางพาราภายในหน่วยงานภาครัฐ เช่น สถาบันการศึกษา ฯลฯ ในการทำโต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ นอกจากนี้รัฐบาลต้องให้ความชัดเจนเรื่องนโยบายพลังงานทดแทน เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงการอำนวยความสะดวกในเรื่องมาตรฐานต่าง ๆ และการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จากภาครัฐ เพื่อเป็นทางออกให้โรงงานแปรรูปและเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา

ขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดเสถียรภาพวงการไม้ยางพารา ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพัฒนาค้นคว้านวัตกรรมการแปรรูปไม้ยางพาราออกมาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ขึ้นมาเอง

รวมถึงต้องแก้ไขจุดอ่อนของไม้ยางพาราซึ่งไม่ทนทานต่อน้ำ แสงแดด รวมถึงแมลงพวกปลวกและมอดชอบกิน ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรมาพัฒนาแก้ไข แต่ต้องใช้ต้นทุนสูง ต้องอบด้วยความร้อนสูงประมาณ 200-250 องศา เพื่อทำให้เนื้อไม้แข็ง ทนทานต่อแสงแดดและฝน ทั้งนี้หากต้นทุนไม้ยางพาราต่ำจะเป็นที่สนใจของตลาดมากขึ้น

“ในอดีตภาพรวมธุรกิจไม้ยางพาราแปรรูปมีเงินหมุนเวียนสะพัดประมาณ 50,000 ล้านบาท/ปี ยังไม่นับไม้ยางพาราที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ แต่พอช่วงปลายปี 2560 เป็นต้นมามีหลายปัจจัยส่งผลต่อราคาลดลง โดยเฉพาะการที่ไทยไปผูกกับตลาดจีนตลาดเดียว เมื่อจีนมีมาตรการเข้มงวดเรื่องสิ่งแวดล้อม และมีการเข้มงวดเรื่องการนำเข้า

ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราของจีนที่ไม่ได้มาตรฐานต้องปิดตัวไปหลายโรง ซึ่งกระทบมาถึงการส่งออกไม้ยางแปรรูปของไทย แต่สวนทางกับความต้องการในตลาดโลกและตลาดจีน ซึ่งมีการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้น ดังนั้นทางสมาคมมีความพยายามหาตลาดใหม่ ๆ เช่น ประเทศอินเดีย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะไม้ยางพาราของไทยมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา ซึ่งมีความได้เปรียบในเรื่องขนาดลำต้นใหญ่และยาวกว่าของไทย แม้เทียบเนื้อไม้แล้วของไทยจะดีกว่า”

ตรังปิดโรงงานแปรรูปกว่า 50%

นายเสน่ห์ ทองศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ทองศักดิ์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออก ไม้ยางแปรรูป ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราของประเทศไทยส่งออกไปยังประเทศจีน 90% เหลือใช้ภายในประเทศเพียงประมาณ 10% โดยแต่ละปีไทยส่งออกไม้ยางพาราแปรรูปไปประเทศจีนประมาณ 1 แสนล้านบาท เดิมโรงงานในจังหวัดตรังมีอยู่ประมาณ 30 โรง ส่งออกได้เดือนละประมาณ 3,000-4,000 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือปีละประมาณ 6-8 หมื่นล้านบาท แต่ผลจากที่หลายโรงงานในจีนต้องปิดตัวลง มีการยกเลิกออร์เดอร์ตามมาและส่วนที่เหลือได้ชะลอการสั่งซื้อดังกล่าว ทำให้ธุรกิจต้องปิดกิจการชั่วคราวไปแล้วประมาณ 50% ปิดถาวร เพราะขาดทุน 3 โรง ส่วนที่เหลือลดกำลังการผลิตลงเหลือประมาณ 40-50% หรือเหลือเพียงเดือนละประมาณ 1,000 กว่าตู้ และยังอาจทยอยปิดอีกหลายโรงงาน

นอกจากนี้โรงงานที่ทำสัญญาซื้อขายไม้ยางพารากับเจ้าของสวนยางไว้ล่วงหน้าต้องยอมให้เจ้าของสวนยึดเงินมัดจำ เพราะซื้อมาทำไม่ได้ ไม่มีตลาด ถือว่าปัญหาอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูปวิกฤตหนัก ขณะนี้สูญเงินเข้ามาพัฒนาจังหวัดตรังมหาศาล ทำเสียดุลการค้า และยังส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดตรังด้วย จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งส่งเสริมการใช้อุตสาหกรรมไม้ในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดการส่งออก

“เฉพาะในกลุ่มคลัสเตอร์ไม้ยาง ซึ่งมีจำนวน 15 โรงในจังหวัดตรัง ผลิตและส่งออกได้เดือนละประมาณ 500-600 ล้านบาท แต่ขณะนี้เหลือประมาณ 250-300 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น เช่นเดียวกับของตัวเองผลิตได้เดือนละประมาณ 300 ตู้ ขณะนี้เหลือเพียงเดือนละประมาณ 180 ตู้ มีสินค้าค้างสต๊อกอยู่อีกประมาณ 100 ตู้ หรือประมาณ 50-60 ล้านบาท และยังส่งผลเป็นลูกโซ่ไปยังลานเท ที่รับซื้อไม้ยางป้อนโรงงาน ขณะเดียวกันกระทบกับเกษตรกรเจ้าของไม้ยางที่ราคาตกต่ำ จากเดิมไร่ละประมาณ 70,000-100,000 บาท เหลือเพียงไร่ละ 30,000-40,000 บาท” นายเสน่ห์กล่าว

เศษไม้ฟืนราคาพุ่งสวนกระแส

นายทศพล ขวัญรอด เจ้าของสวนยางพาราและประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ราคาเศษไม้ยางพาราได้ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่า 1 เดือนแล้ว จากราคา 0.30-0.40 บาท/กก. ขยับขึ้นมาเป็น 1.20 บาท/กก. เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงเผาถ่านมีความต้องการเช่นกัน ขณะที่ไม้เกรดยางพาราได้ลดลงจากราคา 2 ถึง 2 บาทกว่า/กก. มาอยู่ที่ราคา 1.60-1.70 บาท/กก. เพราะตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนมีการเข้มงวดเรื่องการนำเข้า

“ปกติไม้เกรดยางพาราขยับลง ไม้ฟืนยางพาราราคาก็ลงตาม แต่คราวนี้สวนทางกัน ไม้ฟืนยางพาราราคาขยับสูงขึ้น แต่ราคาไม้เกรดยางพารากลับต่ำลง ผู้ค้าไม้จึงมีผลประกอบการที่ดี อุตสาหกรรมไม้ยางพาราจึงยังไปได้ แต่โรงเผาถ่านที่นำไปใช้ภายในประเทศมีต้นทุนสูงขึ้น จากราคา 0.30 บาท ต้องซื้อที่ลานรับซื้อไม้ ราคาไม่เกิน 0.50 บาท แต่ขณะนี้ขยับขึ้นถึง 1.20 บาท/กก. ถึงอย่างไรโรงเผาถ่านยังอยู่ได้ เพราะราคาขายกระสอบปุ๋ย 150 บาท แต่กำไรถดถอย”

ที่มา  : ประชาชาติธุรกิจ :  อ่านเพิ่มเติม : https://www.prachachat.net/local-economy/news-186981