จับตาศัตรูพืชต่างถิ่น

  •  
  •  
  •  
  •  

จากการมอบหมายให้กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร ติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชต่างถิ่นที่มีโอกาสเข้ามาระบาดในไทยอย่างต่อเนื่อง และจัดทำแปลงเฝ้าระวังการระบาดของศัตรูพืชในพื้นที่เสี่ยงกว่า 1,890 แปลงทั่วประเทศ ครอบคลุม 38 ชนิดพืช

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ช่วยกันเฝ้าระวัง โรคไวรัสใบด่าง มันสำปะหลัง ที่เกิดจากมันสำปะหลัง Cassava mosaic virus ซึ่งสามารถติดมากับท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง หากโรคนี้เกิดการระบาดจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตมันสำปะหลังแทบจะสิ้นเชิง เนื่องจากมันสำปะหลังที่เป็นโรค จะมีอาการใบด่าง เหลือง ลำต้นแคระแกร็น มันไม่สร้างหัว หรือถ้า สร้างได้ หัวมันจะมีขนาดเล็กไม่สมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตเสียหาย 80-100% และแพร่ระบาดรวดเร็วมาก เพราะมีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะ สามารถปล่อยเชื้อจากต้นสู่ต้นภายในไม่กี่ชั่วโมง ที่สำคัญขณะนี้ยังไม่มียาหรือสารเคมีชนิดใดที่จะทำลายเชื้อตัวนี้ได้ แม้บ้านเราจะยังไม่เคยพบโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังมาก่อน แต่ขณะนี้มีการแพร่ระบาดอยู่ในกัมพูชาและเวียดนาม ล่าสุดพบการระบาดของโรคนี้ห่างจากชายแดนไทยเพียง 30-40 กม.เท่านั้น โดยเฉพาะบริเวณแหล่งปลูกมันสำปะหลังสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก พื้นที่เสี่ยงได้แก่ จ.ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ และสระแก้ว

ตั๊กแตนไผ่ เป็นอีกศัตรูพืชต่างถิ่นอีกชนิดที่ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง เพราะมีรายงานสร้างความเสียหายในประเทศเพื่อนบ้านคือ ประเทศลาว เขตติดต่อกับจังหวัดน่าน หากเกษตรกรพบความผิดปกติหรือการระบาดของศัตรูพืชทั้งที่เป็นศัตรูพืชประจำถิ่นหรือศัตรูพืชต่างถิ่นที่ไม่เคยพบมาก่อนให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน.

 

ที่มา : ไทยรัฐ : อ่านเพิ่มเติม :https://www.thairath.co.th/content/1330022