ิ“ซี.พี.จีน” ต้นแบบเมืองเกษตร สะท้อนภาพธุรกิจไทยรุก “ครัวโลก”

  •  
  •  
  •  
  •  

เมื่อต้นปี 2561 เจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานกรรมการอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P.) ปรากฏตัวให้สัมภาษณ์สื่อ เกี่ยวกับโครงการมอบที่ดินให้ข้าราชการตำรวจที่เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี พร้อมให้มุมมองการดำเนินธุรกิจของเครือ C.P. รองรับการปรับเปลี่ยนของโลกที่ก้าวสู่ยุค 4.0 โดยชูโมเดล “เมืองเกษตร ซี.พี.” พร้อมทั้งยกตัวอย่างการดำเนินธุรกิจไข่ไก่ที่ผิงกู่ กรุงปักกิ่ง

เจ้าสัวฉายภาพโมเดลธุรกิจนี้ว่า เมืองเกษตรเป็นการสร้างเมืองขนาดใหญ่ ประชากร 3-4 แสนคนมาอยู่รวมกัน โดยคนที่อยู่ในเมืองนี้สามารถทำธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้ ทั้งปลูกพืชเกษตร ทำปศุสัตว์ ส่วน ซี.พี.จะเข้าไปรับจ้างปลูก รับซื้อผลผลิต การันตีรายได้ และรับความเสี่ยงด้านต่าง ๆ โดยอาศัยความชำนาญของ ซี.พี.เข้าไปช่วย

นำชมโมเดลต้นแบบ “ผิงกู่”

ล่าสุด นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ได้นำผู้บริหารและทีมวิจัยพัฒนาสินค้าอาหารสำเร็จรูป (R&D) เดินทางไปศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาอาหารแปรรูป ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการเดินทางครั้งนี้

เริ่มต้นที่ “โครงการไก่ไข่ 3 ล้านตัวผิงกู่” หรือ Beijing CP Egg Industry Co.,Ltd. ซึ่งเป็นโครงการเกษตรกรรมทันสมัยแห่งแรกที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินการร่วมกับรัฐบาลจีน โดยใช้โมเดล “สี่ประสาน” ผนึกกำลังความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาล เกษตรกร บริษัทเอกชน และธนาคาร สร้างโครงการไก่ไข่ครบวงจรที่ทันสมัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย บนที่ดิน 324 ไร่ ณ หมู่บ้านซีฟานเกอจวง (Xifan Gezhuang) ตำบลยู่โค (Yukou) เขตผิงกู่ นครปักกิ่ง มีมูลค่าการลงทุนรวม 720 ล้านหยวน หรือประมาณ 3,600 ล้านบาท และมีเกษตรกรจีนได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการนี้ถึง 1,608 ครอบครัว หรือประมาณ 5,000 คน

ภายในโครงการประกอบด้วย โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิดที่สามารถเลี้ยงไก่ได้ 3 ล้านตัว

การเก็บไข่จะมีสายพานลำเลียงไปยังโรงคัดไข่ และมีโรงงานแปรรูปไข่ที่ผลิตได้ทั้งไข่เหลว เต้าหู้ไข่ ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น เป็นต้น โดยกระบวนการผลิตเกือบทั้งหมดควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ นับเป็นฟาร์มไก่ไข่ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียและยุโรป จะเป็นรองก็เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ที่นี่ผลิตไข่สดป้อนชาวจีนได้วันละประมาณ 2.4 ล้านฟอง

นอกเหนือจากไข่แปรรูป ซี.พี.ยังมีโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป ชื่อ “บริษัท ซีพี ฟู้ดส์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ (ชิงเต่า) จำกัด” ตั้งอยู่ ณ เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ 32,700 ตร.ม. มีไลน์การผลิตมากถึง 9 ไลน์ ประกอบด้วยไลน์การผลิตเกี๊ยวซ่า ไส้กรอก ซาลาเปา ไก่แปรรูป ซุป บะหมี่ ข้าวกล่อง ข้าวปั้น และอาหารประเภทกับข้าว โดยใช้เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด

เชื่อมโยงศูนย์ R&D ไทย-จีน

การเดินทางครั้งนี้ทีมงานวิจัยพัฒนาอาหารของทั้งสองประเทศได้นำสินค้าใหม่มาแลกเปลี่ยน ทดลองชิมรสชาติ รสสัมผัส และให้ความเห็น-คำแนะนำแก่กันและกัน เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาสินค้าอาหารแปรรูปที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคทั้งไทยและจีน ตลอดจนผู้บริโภคทั่วโลก

ทั้งนี้ เพราะหัวใจของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ ๆ อยู่ที่ทีมงานวิจัยและพัฒนาอาหาร (R&D) ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์ R&D มาตรฐานโลก จึงถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้นักวิจัยพัฒนาอาหาร มีความคิดสร้างสรรค์ มีพื้นที่ทดลองผลิตสินค้าใหม่ มีแล็บตรวจสอบความปลอดภัยในอาหาร ตลอดจนมีพื้นที่ทดสอบความพึงพอใจของผู้บริโภค ซึ่งเป็นที่มาของการเริ่มก่อสร้าง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร” ณ โครงการ CP Eco Agriculture Industry Park เมืองสือซี จังหวัดหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ หากเชื่อมโยงศูนย์วิจัยเจ้อเจียงเข้ากับ “ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร” อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะส่งผลให้เกิดการผนึกกำลังพัฒนาการผลิตสินค้าอาหารสำเร็จรูปใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น

สุดท้ายทางคณะได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานแปรรูปเนื้อหมู หรือ CP Food (Xiangyang) Co.Ltd. ณ เมืองเซียงหยาง จังหวัดอู่ฮั่น

มณฑลหูเป่ย พร้อมชมโรงงานผลิตที่สมัย ซึ่งได้นำระบบอัตโนมัติมาใช้ในไลน์การผลิตทั้งหมด โดยเบื้องต้นจะเริ่มไลน์การผลิตเกี๊ยวซ่าเป็นไลน์แรก ในต้นเดือนมิถุนายนนี้ โดยมีกำลังการผลิต 50,000 ชิ้นต่อชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีไลน์การแปรรูปอาหารประเภทต้มและตุ๋นด้วย

คว้าตลาดจีน 1,300 ล.คนสู่ครัวโลก การลงทุนในประเทศจีนถือเป็นโอกาสและความท้าทายที่สำคัญของนักธุรกิจไทย เพราะจีนขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชีย มีประชากรมากถึง 1,300 ล้านคน

นี่จึงเป็นโอกาสในการคว้าตลาดขนาดใหญ่ซึ่งภาคธุรกิจของหลายประเทศต่างจับจ้องจะเข้าไปทำการค้าการลงทุนและผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนเช่นกัน แต่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมของไทย ก็สามารถก้าวเข้าไปลงทุนวางรากฐานธุรกิจในจีนโดยได้รับการต้อนรับอย่างดีจากรัฐบาลและประชาชนชาวจีน ภาพการเติบโตของธุรกิจต้นน้ำของ ซี.พี.ในประเทศจีน เป็นจุดที่สะท้อนกลับมาถึง “ความพร้อม” ของคนไทยที่กำลังขยับตัวสู่เป้าหมาย “ครัวของโลก” มากขึ้นทุกที

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ : อ่านเพิ่มเติม : https://www.prachachat.net/economy/news-172240