ระวังมันมาช่วงนี้“โรคผลเน่า”ในทุเรียน มีวิธีพิชิตได้

  •  
  •  
  •  
  •  

    ระวังมันมาช่วงนี้“โรคผลเน่า”ในทุเรียน มีวิธีพิชิตได้

โดย …บังดล  คนเดิม

           คราวที่แล้วได้พูดถึง “โรครากเน่า โคนเน่า” ในทุเรียนที่เกิดมาจากเชื้อไฟทอปธอร่า(Phytophthora palmivora) ซึ่งในความเป็นจริงเชื้อราไฟทอปธอร่า ร้ายมากครับ ไม่พียงแต่จะทำให้ต้นทุเรียนเกิดอาการโรครากเน่า และโคนเน่า อย่างเดียว แต่มันลามถึงผล ทำให้เกิด “โรคผลเน่า” ในทุเรียนอีกด้วย

           เนื่องเพราะเชื้อไฟทอปธอร่า สามารถแพร่กระจายโดยทางลม น้ำ ดิน และใบ เข้าสู่ผล โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีลมพายุและความชื้นสูง โดยจะเข้าทำลายตั้งแต่ระยะผลอ่อนจนกระทั่งผลแก่ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในช่วงนี้ คือช่วงเดือนพฤษภาคม-มีนาคม ของทุกปีซึ่งเป็นช่วงต้นฝนนั่นเอง

           อาการเริ่มแรกจะเกิดจุดแผลขนาดเล็กสีน้ำตาลด้าบนปลายหนามหรือซอกหนาม 1-2 จุด และจุดเล็กๆที่ว่าจะกลายเป็นแผลจะขยายใหญ่ลุกลามมากขึ้น เป็นวงกลมหรือค่อนข้างรีไปตามเปลือกของผล เมื่อทุเรียนใกล้แก่จะทำให้รอยแบ่งของพูทุเรียนแยกออกจากกันได้ง่าย ถ้าสภาพอากาศมีความชื้นสูงอาจพบเส้นใยของเชื้อราสีขาวขุ่นขึ้นตามบริเวณแผลที่เน่านั้นด้วย

          โรคนี้จะพบพบอาการได้ตั้งแต่ผลที่ยังอยู่บนต้น ซึ่งถ้าอาการรุนแรงมากผลจะเน่าร่วงหล่นก่อนกำหนด แต่ส่วนใหญ่มักพบในผลช่วง 1 เดือนก่อนเก็บเกี่ยวจนกระทั่งเก็บเกี่ยว และระหว่างการบ่มผลให้สุก

.           ก็อย่างว่านั่นแหละครับ ทุกอย่างมันต้องมีทางออก “เคล็ด(ไม่ลับ)กับบังดล” ก็มีเคล็ดในการที่จะพิชิตโรคผลเน่าในทุดเรียนได้ คือการป้องกันและกำจัดโรคผลเน่าในทุเรียน ทำเช่นเดียวกับโรครากเน่าและโคนเน่าทุเรียน หากใช้ศัตรูธรรมชาติ คือใช้เชื้อราปฏิปักษ์ไตรโคเดอร์ม่า (Trichoderma harzianum) ควบคุมเชื้อราไฟทอปธอร่า  ในดิน คือนำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า  ที่ผลิตจากเมล็ดฟ่างข้าว ผสมกับรำข้าวและปุ๋ยหมัก ในอัตราเชื้อไตรโคเดอร์ม่า 1 กก. : รำข้าว 10 กก. : ปุ๋ยหมัก 40 กก. คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน นำไปโรยรอบโคนต้น

            ส่วนทางกรมวิชาการเกษตร แนะนำว่า ให้เกษตรกรชาสวนทุเรียน หมั่นตรวจผลทุเรียนในแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าผลทุเรียนเป็นโรคให้ตัดผลออกทันที และเก็บผลเน่าที่ร่วงหล่นไปเผาทำาลายนอกแปลงปลูก

จากนั้นให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 25 % ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วต้น และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผลอย่างน้อย 30 วัน

            ที่สำคัญต้องไม่นำเครื่องมือตัดแต่งกิ่ง ที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรท้าความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง

          ส่วนแปลงทุเรียนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคผลเน่าสูง คือในแปลงที่มีต้นที่เป็นโรครากเน่าและโคนเน่าอยู่แล้ว  เมื่อมีฝนตกชุก หรือมีความชื้นในอากาศสูงในช่วงทุเรียนใกล้เก็บเกี่ยวผล  ส่วนผลทุเรียนที่เป็นโรคในขณะที่บ่มนั้น สาเหตุคือเชื้อติดมาจากต้นแล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการ

         ดังนั้น หากแปลงที่เคยเป็นโรครากเน่า และโค่นเน่ามาแล้ว การเก็บเกี่ยวผลต้องระมัดระวังไม่ให้ผลสัมผัสกับดิน ให้ปูพื้นดินที่จะวางผลด้วยวัสดุหรือกระสอบที่สะอาด เพื่อลดโอกาสที่ผลจะสัมผัสกับดิน และการขนย้ายควรระมัดระวังบาดแผลที่จะเกิดขึ้นกับผลด้วย

[adrotate banner=”3″]

         ก็ต้องระวังด้วย โดยเพาะช่วงนี้ฝนตกอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญปัจจุบันทุเรียนราคาดีด้วย หากประมาทเกิดโรคผลเน่าแล้วจะสร้างความเสียหายอย่างน่าเสียดายครับ!