กฤษฎา บุญราช เป็นประธานพิธีส่งน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง
กระทรวงเกษตรฯได้ฤกษ์ ปล่อยน้ำเข้า 12 ทุ่ง ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 1.15 ล้านไร่ ดีเดย์วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 รับต้นฤดูกาลผลิตข้าวนาปี หลังจากพบว่า การปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี เมื่อปี 2560 ประสบความสําเร็จเป็นอย่างดี
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีส่งน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ จังหวัดชัยนาท ว่า ได้กำหนดวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เป็นวันเริ่มต้นฤดูการเพาะปลูก ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทาน จะได้ส่งน้ำให้กับเกษตรกร เพื่อทําการเพาะปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 1.15 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากในเดือนกันยายน – ตุลาคม เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยในลุ่มน้ำจ้าพระยาและพื้นที่ข้างเคียง
[adrotate banner=”3″]
“ผลจากการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี เมื่อปี 2560 ประสบความสําเร็จเป็นอย่างดี สามารถลดความเสียหายในหลายๆ ด้าน จึงต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กลุ่มผู้ใช้น้ำเข้าใจถึงความสําคัญของการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำเร็วขึ้นนั้น จะช่วยลดผลกระทบความเสียหายจากน้ำท่วม ใช้พื้นที่เป็นแก้มลิงธรรมชาติในการเก็บกักน้ำในฤดูน้ำหลาก ช่วยชะลอน้ำได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม. แล้ว เกษตรกรยังจะมีรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพประมง ด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะใช้โมเดลดังกล่าว ขยายผลไปดำเนินการในภาคอีสาน และภาคใต้ต่อไป” นายกฤษฎา กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้ถือโอกาสตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรประจำอำเภอ จำนวน 8 ศูนย์ ซึ่งตัวอย่างกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวบ้านหนองตาดำ-โพธิ์เจริญ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่ายในชุมชน โดยมีเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิต และผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และข้าวคุณภาพดี ปัจจุบันมีสมาชิก 56 ราย พื้นที่ 1,379 ไร่ สินค้าหลัก ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าว และข้าวบริโภค
ปัจจุบันผลการดำเนินงานในปีการผลิต 2560/61 สมาชิกร้อยละ 70 สามารถลดต้นทุนการผลิตจาก 4,850 บาท/ไร่ เหลือ 3,952 บาท/ไร่ ลดลงเฉลี่ยไร่ละ 898 บาท (ร้อยละ 18.51) ทั้งนี้ ผลจากการรวมกลุ่มผลิตเป็นแปลงใหญ่ จะทำให้กลุ่มเกษตรกรเข้าถึงการสนับสนุนของภาครัฐในด้านต่างๆได้มากขึ้น เช่น การรับการถ่ายทอดความรู้ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเป็นศูนย์ให้บริการเครื่องจักรกลเกษตรในชุมชน รวมถึงมีโอกาสในการพัฒนาต่อยอดในเชิงธุรกิจจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอีกด้วย.