โลกเปลี่ยน! ภาคการเกษตรไทยต้องปรับตั้งแต่วันนี้

  •  
  •  
  •  
  •  

          โลกเปลี่ยน! ภาคการเกษตรไทยต้องปรับตั้งแต่วันนี้

โดย…รศ.สมพร อิศวิลานนท์

ต้องยอมรับว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะความเป็นพลวัตของโลกนั้นไม่หยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงทั้งจากแรงกดดันด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ การรวมตัวกันของการเข้าสู่ประชาคมการค้าและนโยบายการค้าเสรี รวมถึงภาวะความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งในแต่ละประเทศย่อมได้รับผลกระทบจากแรงกดดันในลักษณะที่แตกต่างกันไป

ประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกและเศรษฐกิจโลกก็จะต้องปรับตัวและปรับเป้าหมายและทิศทางของการพัฒนาการเกษตรของประเทศ เพื่อให้สอดคล้องและก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะภาคการเกษตรของไทยหากจะพิจารณาจากฐานสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ประชาชาติซึ่งมีสัดส่วนอยู่เพียงร้อยละ 8.4 ก็ตาม แต่การเกษตรเป็นภาคการผลิตที่ถือครองทั้งที่ดินและแรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก

โครงสร้างของภาคการเกษตรไทยในอดีตได้ใช้ทรัพยากรของภาคการเกษตรส่วนใหญ่ไปในการผลิตข้าว เนื่องจากข้าวเคยเป็นพืชส่งออกที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก อีกทั้งข้าวเป็นพืชอาหารจานหลักของประชากรในประเทศและในเอเชีย และในอดีตเป็นสินค้าที่ขาดแคลนไม่เพียงพอกับความต้องการของประชากรในหลายประเทศอยู่เนืองๆ

จากภาวะการขาดแคลนสินค้าข้าวในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้เป็นแรงส่งที่สำคัญอันนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงหรือ miracle rice เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 40 กว่าปีที่ผ่านมา และข้าวพันธุ์ดังกล่าวได้แพร่กระจายไปในแหล่งผลิตข้าวของประเทศต่างๆทั้งในเอเชียและในภูมิภาคอื่นๆอย่างรวดเร็ว โดยได้มีการเรียกนวัตกรรมนี้ว่าเป็นนวัตกรรมของการปฎิวัติเขียวที่ทำให้ผลผลิตข้าวต่อไร่เพิ่มขึ้นแล้วการเพาะปลูกข้าวได้หลายครั้งในรอบปี

อุปทานผลผลิตข้าวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในขณะนั้น ได้ส่งผลให้ภาวะการขาดแคลนข้าวซึ่งเป็นอาหารจานหลักหายไป อีกทั้งยังทำให้ประเทศที่เคยผลิตข้าวได้ไม่เพียงพอสามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ส่วนประเทศที่ผลิตข้าวได้เกินความต้องการภายในประเทศก็มีอุปทานผลผลิตส่วนเกินเหลือเพิ่มมากขึ้น และต้องผลักดันผลผลิตส่วนเกินนั้นออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ

[adrotate banner=”3″]

เมื่อครั้งที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมวิชาการของสมาคมนักเศรษฐศาสตร์เกษตรเอเชียเมื่อกระโน้น ได้มีการกล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจไว้ว่า การพัฒนาการเกษตรของโลกในช่วงเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาว่าทั้งในเอเชียและในส่วนต่างๆของโลก ได้เน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาในด้านธัญพืชมากเกินไป อันส่งผลให้เกิดอุปทานส่วนเกินในตลาดธัญพืชและนำไปสู่แนวโน้มการลดลงของราคาธัญพืชหากเทียบกับพืชในกลุ่มของผักผลไม้ พลังงาน และปศุสัตว์

อีกทั้งด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มหดตัวในการบริโภคอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตไปสู่ความต้องการด้านโปรตีนจากสัตว์และธาตุอาหารจากผักและผลไม้ อันเนื่องจากระดับรายได้ของประชากรที่เพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจที่เมืองที่ขยายตัวออกไป

ทำให้เป็นที่คาดการณ์กันว่าอุปสงค์ความต้องการอาหารจำพวกโปรตีนและการบริโภคจำพวกผักและผลไม้จะขยายตัวออกไป  พร้อมกับได้มีการเสนอแนะให้มีการปรับโครงสร้างการเกษตรเพื่อให้สนองตอบกับอุปสงค์และพฤติกรรมการบริโภคของประชากรโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

         ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะนำพาให้การเกษตรของไทยเกิด “ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน”  ขึ้นได้ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีข้างหน้า จึงมีความจำเป็นต้องปฎิรูปโครงสร้างการเกษตรของไทย ให้ทันกับความเป็นพลวัตของความต้องการอาหารโลกเสียแต่วันนี้ครับ!