อีสานจม 12 จังหวัดกว่า 3.54 แสนไร่ คาดว่าจะเสียหาย 306,247 ไร่ กระทบเกษตรกรกว่า 3.8 หมื่นครอบครัว

พิษน้ำท่วมอีสานจมกว่า 3.54 แสนไร่ ในพื้นที่ 12 จังหวัด 69 อำเภอ คาดว่าจะเสียหาย 306,247 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 38,512 ครัวเรือน”ธรรมนัส” ลงพื้นที่มสั่งกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งสำรวจพื้นที่เสียหาย พร้อมสนับสนุนพืชพันธุ์ดีและชีวภัณฑ์ บรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรด่วน

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากอิทธิพลร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่าน พัดปกคลุม ทำให้สถานการณ์ฝนในระยะนี้ ยังมีกระจายต่อเนื่อง และอาจมีฝนหนักบางแห่ง ส่งผลให้ขณะนี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้วใน 12 จังหวัด 69 อำเภอ เกษตรกร 38,512 ครัวเรือนได้รับผลกระทบ พื้นที่ประสบภัย 354,473.25 ไร่ พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 306,247 ไร่ จึงมีความเป็นห่วงประชาชน ตลอดจนพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการเกษตรให้จัดเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดออกสำรวจและรายงานความเสียหายเบื้องต้น (ด้านพืช) ให้ทราบในทันที ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงพื้นที่ บ้านคำบง ตำบลสะอาด อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และบ้านเหล่าน้อย ตำบลวังสามัคคี อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ และมอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนแล้วในเบื้องต้น

ด้านนายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ สั่งการให้เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะในจังหวัดที่ประสบภัย เร่งลงพื้นที่ภายหลังน้ำลด สำรวจความเสียหายและรายงานตัวเลขให้ทราบ สำหรับจังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ประสบภัย 3 อำเภอ 13 ตำบล 98 หมู่บ้าน เกษตรกรได้รับผลกระทบ 2,053 ครัวเรือน พื้นที่ประสบภัย 60,752 ไร่

ส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่ประสบภัย 6 อำเภอ 24 ตำบล 181 หมู่บ้านเกษตรกรประสบภัย 6,128 ครัวเรือน พื้นที่ประสบภัย 62,373 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 กันยายน 2566) ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้ศูนย์ส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านอารักขาพืช จังหวัดขอนแก่น และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสารคาม นำต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์พืชพันธุ์ดี พร้อมชีวภัณฑ์ ที่ได้ผลิตสำรองไว้มาแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยในครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 ศูนย์ และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรทุกแห่ง ดำเนินการเตรียมพันธุ์พืชดี และเชื้อราไตรโคเดอร์มา สำหรับสนับสนุนเกษตรกรหลังน้ำลด เพื่อนำไปใช้ฟื้นฟู และป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคพืชให้แก่เกษตรกร ซึ่งจะสามารถใช้ในการควบคุมโรคพืชได้หลายชนิด ทั้งบริเวณราก ลำต้น และใบ เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคใบติดของทุเรียน โรคเน่าคอดิน โรคกาบใบแห้งของข้าว โรคเหี่ยว โรคแอนแทรคโนสของพริก เป็นต้น

ด้านหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายสิ้นเชิง เกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 จะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย

โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน