กรมชลฯ ระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รับมือฝนตกทั่วไทย คาด “โนรู”เข้าไทย 28 ก.ย.นี้

กรมชลฯ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกระลอกใหม่ ระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ติดตั้งประจำจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกหนักให้มากที่สุด คาดพายุโซนร้อนกำลังแรง “โนรู” เข้าพื้นที่ จ.มุกดาหารหรืออุบลราชธานี ในวันที่ 28 กันยายน 2565 นี้  

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า พายุโซนร้อนกำลังแรง “โนรู” มีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 27-28 ก.ย.65 ส่งผลให้ประเทศไทย บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงวันที่ 27-29 ก.ย.65 นั้น ตนได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกลและโครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้มีการระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ติดตั้งตามจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเพิ่มเติม อาทิที่ จ.อาทิ สุโขทัย  ปราจีนบุรี นนทบุรี และปทุมธานี เป็นต้น  พร้อมให้เจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้หมั่นกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้ไหลได้สะดวกมากขึ้น

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน เมื่อเวลา 06.00 น. (25 ก.ย.65) ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,968 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที มีแนวโน้มลดลงพายุไต้ฝุ่น “โนรู (NORU)” ที่มีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณภาคอีสานด้านตะวันออกของไทย บริเวณ จ.มุกดาหาร หรือ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 28 ก.ย. 65 ซึ่งอาจทำให้ภาคอีสานโดยเฉพาะตอนกลางและตอนล่าง มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ตกหนักถึงหนักมากได้ และมีลมแรง

หลังจากนั้นกลุ่มฝนจะเลื่อนมาตกบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล ตามแนวการเคลื่อนตัวของพายุ ผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.65 จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งทางกรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดผลกระทบต่อประชาชน จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ และสำนักเครื่องจักรกล ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ เร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ด้วยการปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยงเป็นต้น