“อรรถกร” ถก “ฟรุ๊ตบอร์ด” หาแนวแก้ไขปัญหาลำไยที่คาดว่าจะมีปริมาณผลออกสู่ตลาดสูงกว่าปีที่ผ่านมา เผยที่ประชุมไฟเขียวโครงการพัฒนาสวนลำไยคุณภาพตัดแต่งทรงพุ่ม/ช่อผล ทุ่มงบ 1,000 ล้าน เพิ่มลำไยเกรด A-AA เพิ่มรายได้เกษตรกร เตรียมชง ครม.เร็วๆ นี้ มั่นใจแก้ปัญหายั่งยืน
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 5/2568 ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาลำไยที่คาดว่าจะมีปริมาณผลออกสู่ตลาดสูงกว่าปีที่ผ่านมา และจะเริ่มกระจุกตัวในเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคมนี้ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาสวนลำไยคุณภาพตัดแต่งทรงพุ่ม/ช่อผล ฟื้นฟูสวนลำไย
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มรายได้ โดยเป็นโครงการที่มุ่งเน้นสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว ยกระดับลำไยคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม และวางระบบการตลาดที่ยั่งยืน สร้างความมั่นคงในอาชีพชาวสวนลำไย สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคลำไยไทยในตลาดโลก โดยสนับสนุนค่าตัดแต่งทรงพุ่ม กิ่ง – ช่อผล ปัจจัยการผลิต อัตราไร่ละ 1,400 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อครัวเรือน กรอบวงเงิน 1 พันล้านบาท โดยมีเงื่อนไขตามที่โครงการกำหนด อาทิ ตัดแต่งทรงพุ่ม/ช่อผล ฟื้นฟูสวนลำไย และผ่านการอบรมการผลิตลำไยคุณภาพ
นายอรรถกร กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวเป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในระยะยาว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยใน 8 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ และน่าน) มุ่งให้เกษตรกรชาวสวนลำไยสามารถเพิ่มสัดส่วนลำไยให้เป็นลำไยคุณภาพเกรด A และ AA ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผลผลิตมีราคาเพิ่มขึ้น ยกระดับรายได้เกษตรกรชาวสวนลำไย โดยมีพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 600,000 ไร่ โดยเตรียมนำเสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี ต่อไป
“จากสถานการณ์ผลผลิตลำไยที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดในปริมาณมาก กระทรวงเกษตรฯ ขอยืนยันว่าเรากำลังเร่งแก้ปัญหาให้ชาวสวนลำไย โดยมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และวางแผนกำหนดมาตรการทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว เพื่อช่วยเหลือชาวสวนลำไย พร้อมทั้งมุ่งยกระดับมาตรฐานการผลิตสู่การแข่งขันในตลาดโลกอย่างยั่งยืน” นายอรรถกร กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเดินหน้าดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยควบคู่กันไป ได้แก่ 1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเร่งด่วน เพื่อเร่งระบายลำไยออกจากระบบ เตรียมพร้อมกระจายลำไยที่กำลังออกผลผลิตสู่ตลาด ประกอบด้วย 1.1) มาตรการสินเชื่อเพื่อซื้อลำไยเพื่อแปรรูปอบแห้งปลอดดอกเบี้ย โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตรร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) 1.2) มาตรการกระจายผลผลิตลำไยสด โดยองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กระทรวงศึกษาธิการ บริษัท 100 Set Modern Trade ทัณฑสถาน และหน่วยงานเอกชน
2. มาตรการด้านการตลาดและสื่อสาร (KOL) ส่งเสริมตลาดออนไลน์ และ 3. มาตรการแรงงานเก็บเกี่ยว โดยประสานหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานสำหรับเก็บเกี่ยวผลผลิตที่จะออกกระจุกตัว
สำหรับข้อมูลสรุปผลการเก็บเกี่ยวผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) และผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง) ปี 2568 (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2568) ดังนี้ ลำไย (สดช่อ) ปริมาณผลผลิตทั้งหมด 67,653.44 ตัน หรือ 31.39 % ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ช่วงผลผลิตกระจุกตัว โดยปริมาณผลผลิต ในช่วงเดียวกัน คือเดือนมิถุนายน ถึง เดือนกรกฎาคม พบว่า ปี 2568 มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา มีราคาเฉลี่ย 34.71 บาท/กก.
ส่วนลำไย (รูดร่วง) ปริมาณผลผลิตทั้งหมด 61,165.50 ตัน 11.65 % ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ช่วงผลผลิตกระจุกตัวในเดือนสิงหาคม มีราคาเฉลี่ย 24.23 บาท/กก. ทุเรียน เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 270,693.56 ตัน หรือ 57.60 % ราคาเฉลี่ย 96 บาท/กก. มังคุด เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 64,325.24 ตัน หรือ 73.94 % ราคาเฉลี่ย 30 บาท/กก. เงาะ เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 11,534.66 ตัน หรือ33.99 % ราคาเฉลี่ย 38 บาท/กก. ลองกอง เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 329.05 ตัน 3.41 % ราคาเฉลี่ย 40 บาท/กก.
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านต่างๆ อาทิ การแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้าผลไม้ของประเทศไทย โดย รมว.เกษตรฯ ยังคงเน้นย้ำคุมเข้มมาตรการควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ในทุเรียนผลสดส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน หากตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนสารได้กำชับให้ดำเนินการขั้นเด็ดขาด