รวมพลคนปลูกลำไย ดันยุทธศาสตร์ใหม่ แก้ปัญหาลำไยแบบยั่งยืน ชาวสวนเตรียมเฮ รัฐแจกไร่ละ 1,400 ไม่เกิน 10 ไร่

                                                             อรรถกร ศิริลัทธยากร 

กรมส่งเสริมการเกษตร ประเดิมจัดรวมพลคนปลูกลำไย ดันยุทธศาสตร์ใหม่ แก้ปัญหาลำไยแบบยั่งยืน เตรียมเสนอช่วยชาวสวน ไร่ละ 1,400 ไม่เกิน 10 ไร่ ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ได้วาง 3 มาตรการ ป้องกันล้นตลาด เตรียมทุ่มงบ 1,000 ล้าน พัฒนาผลผลิตคุณภาพสูง เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 8 จังหวัด 

วันที่ 21 กรกฎาคม  2568 นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานโครงการรวมพลคนลำไยเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตสู่การแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน ปี 2568 และพบปะพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยจาก 8 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง ตาก) กว่า 6,000 คน โดยมี นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

นายอรรถกร กล่าวว่า การจัดโครงการรวมพลคนลำไยในวันนี้ เป็นการรวมพลังพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อร่วมกันหาทางออกและก้าวผ่านสถานการณ์ลำไยที่เรากำลังเผชิญ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการติดตามสถานการณ์ลำไยอย่างใกล้ชิด พบว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคมนี้มีปริมาณลำไยเพิ่มมากขึ้นประมาณ 120,000 – 140,000 ตัน จึงได้กำหนดมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไย โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเร่งระบายลำไยออกจากระบบ ขณะเดียวกันต้องเตรียมพร้อมกระจายลำไยที่กำลังออกผลผลิตสู่ตลาด ผ่าน “โครงการสินเชื่อเพื่อซื้อลำไยเพื่อแปรรูปอบแห้งปลอดดอกเบี้ย”

โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมวิชาการเกษตรร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) รวมถึง “โครงการกระจายผลผลิตลำไยสด” โดยประสานงานร่วมกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กระทรวงศึกษาธิการ ทัณฑสถาน และหน่วยงานเอกชน เพื่อขยายตลาดและกระจายลำไยในอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ เพื่อยกระดับผลผลิตลำไยคุณภาพสูง และสร้างภาพจำใหม่ของลำไยไทย โดยการทำเกษตรประณีต กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเดินหน้าโครงการพัฒนาสวนลำไยคุณภาพเพื่อเพิ่มรายได้ วงเงิน 1,000 ล้านบาท สำหรับการสนับสนุนค่าตัดแต่งทรงพุ่ม ช่อดอก ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อครัวเรือน อีกด้วย

สำหรับการช่วยเหลือขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมการ คือจัดทำข้อเสนอโครงการพัฒนาสวนลำไยคุณภาพ สนับสนุนเกษตรกรในการทำลำไยคุณภาพ วงเงิน 1,000 ล้านบาท สนับสนุนค่าตัดแต่งทรงพุ่ม ตัดแต่งกิ่ง ช่อดอก ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อครัวเรือน และค่าปัจจัยการผลิต วัสดุการเกษตร ไร่ละ 400 บาท เพื่อให้เกษตรกรผลิตลำไย เกรด AA ได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ เพื่อแก้ปัญหาลำไยสู่ความยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อน 3 มาตรการสำคัญ ได่แก่ มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ โดยจะเสนอโครงการสินเชื่อเพื่อซื้อลำไยเพื่อแปรรูปอบแห้งปลอดดอกเบี้ย ของกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป้าหมายเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรแปลงใหญ่ ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการจัดทำมาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการรับซื้อลำไย เช่น การอุดหนุนผู้ประกอบการส่งออก และผู้ประกอบการโรงอบลำไย เพื่อให้ระบบโลจิสติกส์ลำไยเป็นไปด้วยความคล่องตัว สามารถส่งลำไยผลสดไปยังตลาดต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น รวดเร็ว ไม่กระจุกตัวในพื้นที่ เพราะหากการกระจายลำไยผลสดเกิดการติดขัดไม่สามารถส่งออกได้

มาตรการกระจายผลผลิต เสนอโครงการกระจายผลผลิต ลำไยสด โดยสหกรณ์การเกษตรกระจายผลผลิต ไปสู่ตลาดต่างๆ ทั้งประสานบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในครั้งนี้ รวมถึงประสานบริษัทขนส่งในการกระจายผลผลิต การเพิ่มจุดจำหน่ายทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงประสานกระทรวงศึกษาธิการ กระจายผลผลิตในโรงเรียน และสนับสนุนมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ในการกระจายผลผลิตลำไยต่อไป

มาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย โดยจะประสานหน่วยงานความมั่นคง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงาน ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวลำไย โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน

ด้านนายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่าการจัดงานในครั้งนี้ มีเกษตรกรชาวสวนลำไยร่วมงานกว่า 6,000 คน นับเป็นการปลุกพลังให้กับเกษตรกร เดินหน้าลำไยคุณภาพ เพราะไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นการปักธงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว ผ่านการยกระดับคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม และวางระบบการตลาดที่ยั่งยืน หากสามารถขับเคลื่อนตามแผนได้ต่อเนื่อง จะไม่เพียงแต่แก้ปัญหาลำไยล้นตลาด แต่ยังสร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกร และคืนความเชื่อมั่นให้ลำไยไทยในตลาดโลก

นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เดินหน้ายกระดับลำไยคุณภาพ โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตที่มีมาตรฐาน GAP เร่งอบรมและลงพื้นที่ให้คำแนะนำเกษตรกร ตลอดจนผลักดันให้สวนลำไยเข้าสู่ระบบการรับรองอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดคุณภาพ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริหารจัดการผลผลิตเชิงรุก กระจายผลผลิต กระจายตลาด ทั้งนี้หนึ่งในปัญหาหลักคือผลผลิตกระจุกตัวในช่วงเวลาเดียวกัน

ฉะนั้นการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต การผลักดันตลาดใหม่ทั้งในประเทศและส่งออก รวมถึงการสนับสนุนการแปรรูปเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและเพิ่มมูลค่า พัฒนากลไกตลาดนำการผลิต กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเน้นให้เกษตรกรรับรู้แนวโน้มตลาดก่อนการวางแผนปลูกผ่านระบบข้อมูลและการพยากรณ์ล่วงหน้า

พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ-พ่อค้าคนกลางในรูปแบบ “เกษตรพันธสัญญา” (Contract Farming) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากราคาผันผวน หนุนเกษตรแปลงใหญ่ – เกษตรแม่นยำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง และสามารถบริหารจัดการผลผลิตชอย่างเป็นระบบ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบแม่นยำ ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพผลผลิต และช่วยให้สามารถติดตามและควบคุมคุณภาพได้อย่างใกล้ชิด รวมถึงส่งเสริมการสร้างแบรนด์ “ลำไยคุณภาพ” เจาะตลาดพรีเมียม กระทรวงเกษตรฯ วางแผนสร้างความแตกต่างให้ลำไยไทยในตลาดโลก