กรมประมง…เปลี่ยนเศษปลาเหลือใช้ ทำ “โปรตีนไฮโดรไลเสต” แบบเข้มข้นสำหรับสัตว์น้ำ พบโตเร็ว ช่วยลดต้นทุนบทพิสูจน์ผลงานวิจัยที่ต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง

กรมประมง..โชว์งานวิจัยไอเดียเด็ด เปลี่ยนเศษวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการประมงมาเพิ่มมูลค่า ด้วยการนำเศษปลามาพัฒนาเป็น “โปรตีนไฮโดรไลเสต” แบบเข้มข้น เพื่อใช้เป็นสารดึงดูดกลิ่นและเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการในอาหารสัตว์น้ำ ที่ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต และลดต้นทุนอาหารในการเลี้ยง ตอบโจทย์การต่อยอดงานวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งในระดับเกษตรกรรายย่อย และวงการอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สร้างความคุ้มค่าและยกระดับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงมุ่งขับเคลื่อนการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ช่วยสนับสนุนการประกอบอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ชาวประมง และผู้ประกอบการ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคการประมงของไทย นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง จึงมีนโยบายส่งเสริมให้นักวิจัยได้เร่งสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ อยู่เสมอ รวมทั้งนำงานวิจัยเดิมมาปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิถีการประกอบอาชีพด้านการประมงตามศักยภาพของพื้นที่ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ฐิติพร หลาวประเสริฐ

ผลงานวิจัยการแปรรูปเศษปลาเพื่อผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสตแบบเข้มข้น (Concentrated Protein Hydrolysate) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่กรมประมงได้ดำเนินการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการเกิดการใช้ทรัพยากรประมงอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำเศษวัตถุดิบเหลือทิ้งจากกิจกรรมประมงที่ไร้ประโยชน์กลับมาเพิ่มมูลค่า ซึ่งไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์จากอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ แต่ยังช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และยังเป็นโอกาสให้ชุมชนและผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนการปฏิรูปวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture Transformation) ด้านการวิจัยและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Natural based solution; Nbs) ในการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยการเพิ่มมูลค่าเศษเหลือเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์น้ำ

ทั้งนี้เป็น 1 ใน 5 กิจกรรม ที่กรมประมงได้ให้ถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูงว่าด้วยการพลิกโฉมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ครั้งที่ 3 (The 3rd High level Meeting on Aquaculture Transformation: HLM 3) ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมระดมความเห็นกับประเทศพันธมิตรในการขับเคลื่อนการยกระดับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ กรมประมงยังได้มีแนวคิดในการต่อยอดงานวิจัยดังกล่าวให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด โดยแปรรูปเศษก้างและเกล็ดปลาที่เหลือจากกระบวนการผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสตให้กลายเป็นไบโอแคลเซียม ด้วยการสกัดเป็นแคลเซียมแลคเตต และแคลเซียมอะซิเตต โดยใช้กรดจากธรรมชาติ เช่น กรดมะนาวและกรดน้ำส้มสายชู เพื่อให้ได้แคลเซียมในรูปแบบที่ปลอดภัย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ทั้งในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ การเกษตร และสุขภาพสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรประมงที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ด้านการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้าน นางสาวลัดดาวัลย์ ครองพงษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำ กรมประมง กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า กองวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำชลบุรี ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและประยุกต์การแปรรูปเศษปลาเพื่อผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสต มาตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพของเศษปลาเหลือทิ้งจากวัตถุดิบในกิจการประมงว่า สามารถพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้ จึงได้ทดลองผลิต โปรตีนไฮโดรไลเสต

ลัดดาวัลย์ ครองพงษ์

โดยเลือกใช้กระบวนการหมักด้วยจุลินทรีย์ (Microbial Fermentation) ที่เป็นการหมักเศษปลาด้วยเชื้อ Lactobacillus plantarum ที่เลี้ยงในน้ำสับปะรด ซึ่งมีราคาย่อมเยาและหาได้ง่าย ซึ่งโปรตีนไฮโดรไลเสตจากเศษปลาที่ได้จะเป็นส่วนก้าง และที่ปั่นเป็นของเหลว จึงนำไปทำเป็นผงด้วยวิธี Spray Drying ได้ค่าโปรตีนถึงร้อยละ 50 ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในอาหารสัตว์น้ำที่ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ แต่ให้ผลผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสตที่อุดมด้วยกรดอะมิโนในรูปแบบที่สัตว์น้ำสามารถดูดซึมได้ทันที เหมาะสำหรับการนำไปใช้เลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อน

จากนั้น ทางศูนย์ฯ ได้ต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์โดยนำไปทดลองเลี้ยงในลูกกุ้งแชบ๊วยระยะ PL15 ภายใต้ “โครงการการประยุกต์ใช้โปรตีนไฮโดรไลเสตจากเศษปลาทะเลในอาหารกุ้งแชบ๊วย (Fenneropenaeus merguiensis) De Man, 1888” ผลปรากฏว่า สามารถใช้ทดแทนปลาป่นในสูตรอาหารได้มากถึงร้อยละ 42 ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์น้ำ และเพิ่มทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก
กระทั่งในปี 2567 ได้ขยายงานวิจัยดังกล่าวสู่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตามแผนงานยุทธศาสตร์การเกษตรสร้างมูลค่า ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการประมง เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กระนั้นยังพบอุปสรรคในการใช้งานจริง เนื่องจากการผลิตมีความยุ่งยากในการเตรียมหัวเชื้อจุลินทรีย์ ราคาสับปะรดบางพื้นที่ค่อนข้างสูง และยังมีข้อจำกัดในการใช้ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบน้ำ ซึ่งไม่สามารถใช้แทนปลาป่นได้มากในสูตรอาหารสัตว์น้ำ ปัจจุบันทางศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำชลบุรี จึงได้ดำเนินการปรับกระบวนการผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสตให้เหมาะสมกับการใช้งานของเกษตรกรมากขึ้น โดยนำโปรตีนไฮโดรไลเสตในรูปแบบน้ำที่ผ่านการกรองแยกก้างและเกล็ดออกแล้วมากรองซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้ได้เฉพาะส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

ส่วนของเหลวที่ได้จะถูกนำไปผ่านกระบวนการทำแห้งแบบ Spray Drying เพื่อให้เป็นผงโปรตีนที่สามารถผสมในสูตรอาหารสัตว์ได้ง่ายและเก็บรักษาได้นาน พร้อมพัฒนารูปแบบ “โปรตีนไฮโดรไลเสตแบบเข้มข้น” สำหรับใช้คลุกเคลือบเม็ดอาหาร ทำหน้าที่เป็นสารดึงดูดกลิ่น (Feed attractant) และเพิ่มคุณค่าทางอาหาร ส่งผลให้สัตว์น้ำกินอาหารได้ดีขึ้น เจริญเติบโตเร็วขึ้น และมีอัตรารอดสูงขึ้น

อีกทั้งโปรตีนไฮโดรไลเสตแบบเข้มข้นยังเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับใช้ในสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งมีระบบย่อยอาหารที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ โดยเฉพาะในลูกกุ้งหรือลูกปลาวัยอ่อน รวมถึงในกระบวนการผลิตยังสามารถปรับสูตรและแหล่งวัตถุดิบให้เหมาะกับพื้นที่หรือฤดูกาลได้ นอกจากนี้ ยังได้วางแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนเกษตรกร เช่น การผลิตกล้าเชื้อจุลินทรีย์แบบพร้อมใช้ การพัฒนาผงน้ำสับปะรดแห้งสำหรับการหมัก การศึกษาการใช้น้ำอ้อยเป็นแหล่งอาหารทดแทนน้ำสับปะรดในการเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกใช้วัตถุดิบตามความพร้อมและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ต่อไป

เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำชลบุรี โทร. 0 3831 2352 Facebook : ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำชลบุรี E-mail : aquafeed_chonburi@yahoo.com