คิกออฟ “กองทุนปลากะพง”ที่แม่กลอง กำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงหอยแครง

ซีพีเอฟ ยังเดินหน้าสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการปราบปลาหมอคางดำที่แม่กลอง คิกออฟโครงการ “กองทุนปลากะพง” เพื่อเป็นแนวทางช่วยเกษตรกรกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประมงจังหวัดสมุทรสงครามย้ำการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำช่วยลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำได้ พร้อมเดินหน้าเปิดรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อทำน้ำหมักชีวภาพเพิ่มอีก 5 หมื่นกิโลกรัม

เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในหมู่ 4 ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับประมงจังหวัดสมุทรสงคราม และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ รับมอบลูกพันธุ์ปลากะพงขาว ภายใต้โครงการกองทุนปลากะพง ความร่วมมือระหว่างรัฐ-เอกชน-เกษตรกรในการควบคุมการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เกษตรกรนำปลากะพงขาวไปเลี้ยงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำให้ทำหน้าที่เป็นปลานักล่าปลาหมอคางดำในบ่อ ช่วยให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง ปู และหอยแครง ในระบบกึ่งธรรมชาติลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดปลาหมอคางดำ และเพิ่มผลผลิตอย่างมีเสถียรภาพ เสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพ

นายกิตติพิชญ์ ตุ้มน้อย เกษตรกรเลี้ยงหอยแครง เล่าว่า เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่สมุทรสงครามได้ปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากปลาหมอคางดำ โดยการอนุบาลเลี้ยงลูกพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่ล้อมอวนไว้ รอจนหอยแครงโตจึงปล่อยเลี้ยงในบ่อใหญ่ สำหรับการจัดตั้งกองทุนปลากะพงขาวเป็นทางออกที่ดี เพราะเป็นปลานักล่าช่วยควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำให้ลดลงอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการซื้อพันธุ์ปลานักล่าคุณภาพดี ที่สำคัญปลากะพงขาวเป็นปลาเศรษฐกิจที่เกษตรกรจับขึ้นมาจำหน่ายได้เมื่อปลาโตเต็มวัยแล้วอีกด้วย

ด้านนายวิรัตน สนิทมัจโร ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า “กองทุนปลากะพง” เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือระหว่าง ซีพีเอฟ กับจังหวัดสมุทรสงคราม โดยซีพีเอฟมอบลูกพันธุ์ปลากะพงขาว ให้ประมงจังหวัดจำนวน 10,000 ตัว เพื่อส่งมอบให้เกษตรกร ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรต่อยอดจากโครงการ “สิบหยิบหนึ่ง” ที่ประมงสมุทรสงครามได้ช่วยเหลือปลากะพงและปลานักล่าแก่เกษตรกรกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อ สำหรับความยั่งยืนของกองทุน ประมงจะขอความร่วมมือจากเกษตรกรคืนเป็นรายได้จากการจำหน่ายปลากะพง เพื่อสมทบทุนในการซื้อลูกพันธุ์ปลากะพงสำหรับนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรรายอื่นๆ หรือนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป

ส่วนสถานการณ์ปลาหมอคางดำในพื้นที่สมุทรสงคราม มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ความหนาแน่นของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ อยู่ในระดับต่ำกว่า 10 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร เป็นผลจากการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และชุมชนในการดำเนินงานเชิงรุกอย่างจริงจัง ส่วนของบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรจำนวนปลาหมอคางดำลดลงอย่างมากจากมาตรการรับซื้อที่เป็นความร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาที่ดิน

ขณะเดียวกัน และประมงยังดำเนินโครงการกองทุนปลากะพงควบคู่กับมาตรการอื่นๆ อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะ กิจกรรมลงแขกลงคลองที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมให้นำปลาหมอคางดำไปใช้ประโยชน์ ทั้งการนำไปแปรรูปเป็นอาหาร และการทำน้ำหมักชีวภาพ ทั้งนี้ประมงสมุทรสงครามเตรียมเปิดรับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกรและประมงอีก 50,000 กิโลกรัม ส่งต่อให้สำนักพัฒนาที่ดินทำน้ำหมักชีวภาพแจกจ่ายให้เกษตรกรใช้ในการเพาะปลูกต่อไป

นายวิรัตน กล่าวต่อว่า ประมงสมุทรสงครามเชื่อมั่นว่าการรวมพลังทุกภาคส่วน และการส่งเสริมชุมชนนำไปบริโภคและนำไปแปรรูปเป็นสินค้าจะสามารถควบคุมปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ พร้อมกับช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนควบคู่กัน