1 ปีมีครั้งเดียว!! การประกวดปลาสวยงาม-จัดตู้พรรณไม้น้ำสุดยิ่งใหญ่ ชิงถ้วยพระราชทานฯ ในงานวันประมงน้อมเกล้าฯ ครั้งที่ 35

เริ่มแล้ว…การประกวดปลาสวยงามและการจัดตู้พรรณไม้น้ำที่ยิ่งใหญ่และได้มาตรฐานที่สุดในประเทศไทย เปิดเวทีประชันความสวยงามของปลาสวยงาม 7 ชนิด 76 ประเภท พร้อมโชว์ฝีมือการจัดตู้พรรณไม้น้ำหลากหลายชนิด ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีฯ ในงานวันประมงน้อมเกล้าฯ ครั้งที่ 35

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า งานวันประมงน้อมเกล้าฯ ครั้งที่ 35 ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม 2568 นี้ ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์ จังหวัดปทุมธานี ภายในงานนอกจากจะมีการจัดแสดงนิทรรศการสัตว์น้ำและนิทรรศการความรู้ต่าง ๆ แล้ว ยังมีการประกวดปลาสวยงามและการจัดตู้พรรณไม้น้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการให้มีการเพาะเลี้ยงที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้มาตรฐานและตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ รวมถึง เป็นการเพิ่มมูลค่าและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ตลอดจนผลักดันอุตสาหกรรมปลาสวยงามของไทยให้ก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก

สำหรับปีนี้ มีการประกวดปลาสวยงามทั้งหมด 7 ชนิด 76 ประเภท และการจัดตู้พรรณไม้น้ำสวยงาม 3 ประเภท โดยรางวัลการประกวดในแต่ละประเภท ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ถ้วยรางวัลพระราชทานฯ, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โล่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, และรางวัลชมเชย ประเภทละ 3 รางวัล ประกาศนียบัตรอธิบดีกรมประมง


                                                                                                   บัญชา สุขแก้ว

รายละเอียดการรับสมัครมีดังนี้  คือ  • การประกวดปลาสวยงาม สมัครได้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม – 16 มิถุนายน 2568 หรือจนกว่าจะเต็ม : มีการประกวดทั้งหมด 7 ชนิด 76 ประเภท ได้แก่ 1. ปลากัด 4 กลุ่ม 29 ประเภท ได้แก่ ปลากัดครีบสั้น 13 ประเภท, ปลากัดครีบยาว 5 ประเภท, ปลากัดป่า 6 ประเภท และปลากัดกลุ่มพิเศษ 5 ประเภท, 2. ปลาหางนกยูง 13 ประเภท ได้แก่ โมเซค (Mosaic), ทักซิโด้ (Tuxedo/Half black), คอบบร้า/สเนคสกิน (Cobra or Snake skin), กราซ (Grass)/ แบล็คเฮด (Black Head), อัลบิโน่ โซลิด (Albino solid), อัลบิโน่ แพทเทิร์น (Albino pattern), ริบบอน (Ribbon)/ สวอลโล (Swallow), ฮาร์ฟมูน (Half-Moon), รวมสายพันธุ์หางเล็ก (Open Small Tail), รวมสายพันธุ์หางใหญ่ (Open Big Tail), เอนเลอร์ (Endler), Juvenile Solid และ Juvenile Pattern

3. ปลาทอง 5 สายพันธุ์ 11 ประเภท ได้แก่ สิงห์รวมสายพันธุ์รวมทุกประเภทสีรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่, สิงห์คาริโกะ (Calico) รุ่นเล็กและรุ่นใหญ่, ออรันดาหัววุ้นรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่, ริวกิ้นรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่, สิงห์ดำตามิด, ออรันดาหางสั้น/ สิงห์มีกระโดง และปลาทองรวมทุกสายพันธุ์ (เฉพาะที่ไม่จัดอยู่ในประเภทดังกล่าวข้างต้น)

4. ปลาหมอสีสายพันธุ์เดิม 7 ประเภท ได้แก่ Aulonocara Red Peacock/ Ruby Red, Aulonocara OB Fancy รวมสายพันธุ์, Aulonocara Pink Peacock/ Golden Peacock รวมสายพันธุ์, Aulonocara รวมสายพันธุ์ (Original) ตาดำ, Aulonocara Baenschi (มาลาวีเหลืองตาดำ), Non-Mbuna Albino รวมสายพันธุ์/ Hybrid และ Non-Mbuna ตาดำรวมสายพันธุ์/ Hybrid

5. ปลาหมอครอสบรีด 7 ประเภท ได้แก่ ฟลาวเวอร์ฮอร์น (Flower horn) เฉพาะขอบตาแดงเท่านั้น (ขนาดไม่เกิน 6 นิ้วและขนาด 6 นิ้ว), ปลาหมอครอสบรีดตัวสั้น (Short Body) รวมทุกสายพันธุ์, ปลาหมอครอสบรีด รวมทุกสายพันธุ์ (Open) (ขนาดไม่เกิน 5 นิ้ว, 5 นิ้วขึ้นไป) ปลาหมอครอสบรีด (Golden Base + Red Texas + Flowerhorn + Kamfa) เฉพาะปลาลอก รวมทุกสายพันธุ์ และปลาหมอครอสบรีด (Golden Base + Red Texas + Flowerhorn + Kamfa) เฉพาะปลาลอกรวมทุกสายพันธุ์ (เฉพาะที่ไม่จัดอยู่ในประเภทดังกล่าวข้างต้น)
6. ปลาปอมปาดัวร์ 7 ประเภท ได้แก่ Blue Class, Red Class, Spotted, Striped Pigeon Blood, Striped Turquoise, Heckel Cross and Ica Red และ Open (ทุกสายพันธุ์ที่มีลักษณะไม่ตรงตามที่กล่าวข้างต้น) ,และ7. ปลาเอเซียนอโรวาน่า 2 ประเภท ได้แก่ อโรวาน่าสีทองทุกสายพันธุ์ และอโรวาน่าสีแดงทุกสายพันธุ์

• การจัดตู้พรรณไม้น้ำ สมัครได้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม – 6 มิถุนายน 2568 หรือจนกว่าจะเต็ม : มีการประกวด 3 ประเภท ได้แก่  1. การจัดตู้พรรณไม้น้ำเลียนแบบธรรมชาติ ประเภทนักเรียน แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า, 2. การจัดตู้พรรณไม้น้ำ ประเภทประชาชนทั่วไป ภายใต้หัวข้อ Fancy, Festival, และ 3. การจัดตู้พรรณไม้น้ำ ประเภทจัดสด แบบครึ่งบกครึ่งน้ำ (paludarium)

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง โทรศัพท์ 02 579 8562 หรือ Facebook fanpage : กลุ่มวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ หรือแสกน QR code ด้านล่างเพื่อดาวน์โหลดรายละเอียดการรับสมัคร