ฉลองครบรอบ 30 ปี ความร่วมมือแม่น้ำโขง เลขาธิการ สทนช.ยันไทยยึดมั่นตามข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 1995

เลขาธิการ สทนช. “ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล” ยืนยันกลางเวทีงาน “Mekong Day 2025” ฉลองครบรอบ 30 ปี ความร่วมมือแม่น้ำโขง ระบุไทยเน้นบทบาทสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคภายใต้ความตกลงแม่น้ำโขงปี 1995 ที่ดำเนินมากว่า 30 ปี ถือเป็นรากฐานสำคัญในการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยื
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2568 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประจำปี 2568 พร้อมด้วยนางพัชรวีร์ สุวรรณิก รองเลขาธิการ สทนช. ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ดร.วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สทนช. และผู้แทน สทนช. เข้าร่วมงานกล่าวสุนทรพจน์แม่โขง ครั้งที่ 4 และร่วมฉลองครบรอบ 30 ปี การจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์การค้า Parkson Mall นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
งานกล่าวสุนทรพจน์แม่โขง ครั้งที่ 4 และการเฉลิมฉลองการครบรอบ 30 ปี ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ท่านจันทะเนด บัวละพา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ผู้แทนสำรองในคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนสมาชิกคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (กัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม) เอกอัครราชทูต หุ้นส่วนการพัฒนา หัวหน้าเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ดร.สุรสีห์  เปิดเผยว่า ในโอกาสการครบรอบ 30 ปีของความตกลงแม่น้ำโขง ไทยเน้นย้ำบทบาทสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคภายใต้ความตกลงแม่น้ำโขงปี 1995 ที่ดำเนินมากว่า 30 ปี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความร่วมมือ การพัฒนาอย่างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม และมาตรการลด/บรรเทา ผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาบนลุ่มน้ำโขงและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พร้อมเน้นบทบาทของ MRC ในการเป็นเวทีทางการทูตน้ำและแหล่งองค์ความรู้
                                                                                  ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล
โดยเน้นความจำเป็นของนวัตกรรม เทคโนโลยี และธรรมาภิบาลที่ดีในการเผชิญกับความท้าทาย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น และการเตรียมพร้อมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง พร้อมกันนี้ยังแสดงความยินดีกับการแต่งตั้งนางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ ในฐานะ CEO ผู้หญิงคนแรกของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งสะท้อนถึงความก้าวหน้าด้านผู้นำที่มีความหลากหลายและครอบคลุม
ภายในงานผู้เข้าร่วมได้รับชมวีดิทัศน์เฉลิมฉลองการครบรอบ 30 ปี การกล่าวสุนทรพจน์แม่โขง ครั้งที่ 4 กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงพลังแห่งความร่วมมือของประเทศสมาชิกผ่านการต่อชิ้นส่วนไม้บนภาพวาดที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของแม่น้ำโขง รวมถึงการประกาศผลและมอบรางวัลการประกวดเพลงแม่น้ำโขง (Mekong Song) พร้อมการแสดงจากทีมเยาวชนจากประเทศสมาชิก 4 ประเทศ โดยผลการประกวดเป็นทีมเยาวชนจากประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยงานวันแม่น้ำโขง (Mekong Day) ปีนี้ไม่เพียงแต่เป็นเวทีของผู้มีบทบาทในระดับนโยบาย แต่ยังเปิดพื้นที่ให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนและนักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตร่วมกันของลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป