มกอช. ตอกย้ำศักยภาพทุเรียนไทย เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันตลาดโลก

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ตอกย้ำความสำเร็จในการยกระดับมาตรฐานทุเรียนไทยสู่ตลาดโลก พร้อมชูบทบาทเชิงรุกของภาครัฐในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ

นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศ มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักการปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ.9070-2566) และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2568 นี้ มกอช. ได้ตอกย้ำบทบาทสำคัญในการยกระดับมาตรฐานทุเรียนไทย เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

โดยเฉพาะการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้สามารถเข้าถึงระบบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรได้อย่างทั่วถึง โดยมุ่งเน้นการอนุญาต กำกับดูแล ตรวจสอบ และรับรองผู้ผลิต ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้าเกษตร ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยเฉพาะมาตรฐานบังคับที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและแปรรูปทุเรียน เช่น โรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ และผู้ผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง ที่สามารถยื่นขอใบอนุญาตและแสดงเครื่องหมายการรับรองก่อนการส่งออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศคู่ค้าในด้านคุณภาพและความปลอดภัย

ทั้งนี้ประเทศไทยมีความได้เปรียบในฐานะประเทศผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก ด้วยระบบความปลอดภัยทางอาหารที่ได้รับการยอมรับ มกอช. ได้พัฒนามาตรฐานบังคับที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อาทิ

– มกษ. 9001-2567: การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP)

– มกษ. 9070-2566: หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ

– มกษ. 9046-2560: หลักปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง

– มกษ. 3-2567: มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ทุเรียน

มาตรฐานเหล่านี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้า อาทิ จีน เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญกับการรับรองคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า อย่างไรก็ตาม เพื่อส่งเสริมศักยภาพของทุเรียนไทย มกอช. ได้ดำเนินกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ

– จัดทำหลักสูตรกลางสำหรับผู้ควบคุมการเก็บเกี่ยวและผู้ตรวจสอบความแก่อ่อนของผลทุเรียน

– พัฒนาคู่มือการปฏิบัติงาน และระบบ E-learning ผ่านเว็บไซต์ www.elearning.acfs.go.th (ผู้เรียนผ่านแล้วกว่า 1,500 คน)

– ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตรวจประเมิน และผู้ตรวจสอบทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมกว่า 1,500 คน

– ส่งเสริมสถานประกอบการต้นแบบ พร้อมหน่วยตรวจสอบรับรอง (CB) ที่ยื่นขยายขอบข่ายตาม มกษ. 9070 แล้ว 7 ราย

– จัดทำสื่อวีดิทัศน์ สื่อประชาสัมพันธ์ และการพัฒนาวิทยากรด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร

– จัดสัมมนาและกิจกรรมเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ

“มกอช. ยืนยันว่า จะเดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SME อย่างเข้มข้น และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดเตรียมความพร้อมให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ปฏิบัติงานได้อย่างสอดคล้องและสามารถยื่นขอการรับรองตามมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยรับประกันคุณภาพทุเรียนของไทยให้คงรักษาชื่อเสียงและความโดดเด่นทั้งด้านรสชาติและคุณภาพระดับพรีเมียม เป็นที่ยอมรับตลาดโลก” เลขาธิการ มกอช. กล่าว