กปร.จับมือ ธ.ก.ส. เสริมพลังความร่วมมือภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หวังยกระดับผลิตภัณฑ์ พัฒนาศักยภาพเกษตรกร สู่เศรษฐกิจสีเขียว

สำนักงาน กปร. – ธ.ก.ส. ร่วมลงนาม MOU ว่าด้วย “การเสริมพลังความร่วมมือและเชื่อมโยงเครือข่ายตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านการตลาดของเกษตรกร เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนอุดมสุขสู่ธุรกิจสีเขียว 

วันที่ 11 เมษายน 2568 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การเสริมพลังความร่วมมือและเชื่อมโยงเครือข่ายตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

พิธีลงนามจัดขึ้น ณ ห้องประชุม สำนักงาน กปร. ระหว่าง นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยมีคณะผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงานเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านการตลาดของเกษตรกรเครือข่ายของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วประเทศ เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนอุดมสุขสู่ธุรกิจสีเขียว (BCG) โดยเน้นบูรณาการทรัพยากร ความรู้ และเครือข่ายจากทั้งสองหน่วยงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ภายใต้โครงการนี้ สำนักงาน กปร. และ ธ.ก.ส. จะร่วมกันสนับสนุนด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และเชื่อมโยงช่องทางการตลาดระหว่างผลิตภัณฑ์ลูกค้า ธ.ก.ส. ผลิตภัณฑ์ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ และผลิตภัณฑ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนยกระดับเส้นทางชุมชนท่องเที่ยว ธ.ก.ส. การถ่ายทอดองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนอุดมสุข ส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพลูกค้าพักชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐ ให้เข้าถึงองค์ความรู้ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก Carbon Credit สร้างสมดุลเชิงนิเวศ อนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของชุมชนผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการเสริมพลังสร้างเครือข่ายการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน