สศท.8 เผย ไม้ผล 14 จังหวัด ภาคใต้ ปีนี้ รวมกว่า 9.2 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ผลผลิตออกตลาดมากสุดสิงหาคมนี้

สศท.8 เผย ไม้ผล 14 จังหวัดภาคใต้ ปีนี้ รวมกว่า 9.2 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 210,844 ตัน หรือร้อยละ 30 เกิดจากเกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูกอีก 42,637 ไร่ เผยผลผลิตออกตลาดมากสุดสิงหาคมนี้ มีมังคุดออกผลผลิตมากที่สุดจำนวน 147,430 ตัน

นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงข้อมูลผลพยากรณ์ไม้ผลภาคใต้ ครั้งที่ 1 ปี 2568 ของ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร   สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ระนอง ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดย สศท.8 สศท.9 และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 สงขลา (สสก.5) ได้ดำเนินการจัดประชุมภายใต้คณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ เมื่อวันที่ 10 – 11 มีนาคม 2568 เพื่อติดตามสถานการณ์การออกดอกติดผลของไม้ผล 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง

                                                                                     นิกร แสงเกตุ         

คาดการณ์ปี 2568 มีปริมาณผลผลิตรวมทั้งในฤดูและนอกฤดู จำนวน 923,250 ตัน (ในฤดู 802,621 ตัน นอกฤดู 120,629 ตัน) เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวน 712,406 ตัน (เพิ่มขึ้น 210,844 ตัน หรือร้อยละ 30) เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย สภาพต้นสมบูรณ์ ทำให้ปีนี้การออกดอกดีกว่าปีที่ผ่านมา  โดยทุเรียน มีจำนวน 703,537 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 มังคุด มีจำนวน 147,430 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เงาะ มีจำนวน 46,123 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และลองกอง มีจำนวน 26,160 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15

ภาพรวมผลผลิตของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด เพิ่มขึ้นสำหรับเนื้อที่ยืนต้น ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 1,256,652 ไร่ ภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวน 1,214,015 ไร่ (เพิ่มขึ้น 42,637 ไร่ หรือร้อยละ 4) โดยทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น โดยมีการปลูกทดแทนกาแฟ ยางพารา และปลูกเพิ่มในพื้นที่ว่าง ในขณะที่ลองกอง เงาะ มังคุด ลดลงร้อยละ 7 ร้อยละ 5 และ ร้อยละ 1 ตามลำดับ

เนื้อที่ให้ผล ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 1,000,882 ไร่ ภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวน 970,071 ไร่ (เพิ่มขึ้น 30,811 ไร่ หรือร้อยละ 3) โดยทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ในขณะที่ลองกอง เงาะ และมังคุด ลดลงร้อยละ 7 ร้อยละ 5 และร้อยละ 1 ตามลำดับ เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นเงาะ มังคุด และลองกอง เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่า ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ทุเรียน 1,131 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 มังคุด 656 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เงาะ 773 เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 และลองกอง 278 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24

สำหรับผลผลิตในฤดูของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด จะออกสู่ตลาดเดือนมิถุนายน – ตุลาคม 2568 และผลผลิตนอกฤดู  จะออกสู่ตลาด 2 ช่วง คือ เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2568 และเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2568 ภาพรวมผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2568 ซึ่งขณะนี้ ทุเรียน ออกดอกแล้ว ร้อยละ 65 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะดอกบาน คาดว่าเกษตรกรจะเก็บผลผลิตได้ 2 ช่วง คือ เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม และเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม 2568  โดยผลผลิตออกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2568 มังคุด ออกดอกแล้ว ร้อยละ 19 ส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะปากนกแก้ว

ทั้งนี้มังคุดภาคใต้จะมีผลผลิตตลอดทั้งปี โดยผลผลิตออกมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2568 เงาะ ออกดอกแล้ว ร้อยละ 16                 ส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะตั้งช่อ เกษตรกรจะเก็บผลผลิตได้ 2 ช่วง คือ เดือนมกราคม และเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม 2568 โดยผลผลิตออกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2568 และลองกอง ออกดอกแล้ว ร้อยละ 1 ส่วนมากจะอยู่ในระยะดอกเขียว ลองกองภาคใต้จะมีผลผลิตในเดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน 2568 โดยผลผลิตออกมากที่สุดในเดือนกันยายน 2568

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ กรมส่งเสริมการเกษตรจะยึดหลักการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2567 – 2570 โดยมีกลยุทธ์ในการขับเคลื่อน ดังนี้ 1) การปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิตเพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ผลไม้ โดยการทำแผนที่เสี่ยงภัยแล้ง Risk Map การเตรียมทรัพยากรน้ำต้นทุน บูรณาการทางการเกษตร การส่งเสริมความรู้และการจัดการสวนคุณภาพ 2) การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์ผลไม้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา โดยการประเมินแนวโน้มปริมาณคุณภาพผลผลิต 3) การป้องกัน ควบคุม กำกับคุณภาพ มาตรฐานสินค้าผลไม้ เพื่อรักษาระดับมาตรฐานคุณภาพ โดยการเชื่อมข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและทะเบียน GAP การกำหนดวันตัดและตรวจประเมินทุเรียนอ่อน และการสอบทานควบคุมมาตรฐานตลอดห่วงโซ่อุปทาน และ 4) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแผนปฏิบัติการผลไม้

อย่างไรก็ตาม อาจเกิดความแปรปรวนจากสภาพอากาศที่ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ สศท.8 และ สศท.9  จะได้ติดตามสถานการณ์ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยจะรายงานผลข้อมูลเอกภาพ ไม้ผลภาคใต้ ปี 2568 ให้ทราบภายในเดือนสิงหาคม 2568 หากท่านใดสนใจ ข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผล 14 จังหวัดภาคใต้ ครั้งที่ 1 ปี 2568  สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท. 8 โทร. 0 7731 1641 หรือ อีเมล zone8@oae.go.th