สศก.ชี้สถานการณ์ข้าว 9 เดือนแรกปีนี้ราคาดีขึ้น ส่งออกสดใสเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.96 มูลค่าพุ่งกว่าเท่าตัว คาดมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีก

  •  
  •  
  •  
  •  

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประเมินสถานการณ์ข้าวช่วง 9 เดือนของปีนี้ ทั้งราคา การส่งออกสดใส โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ เฉลี่ยตกตันละ 14,813 บาท  ขณะที่การส่งออกช่วง 7 เดือนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.96 และมีมูลค่าพุ่งขึ้นกว่า 50 % คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ที่อนิสงค์มาจากความต้องการของประเทศผู้นำเข้า อย่างอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ 

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาและการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้ว่า มีทิศทางที่ดี ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้มีการขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในช่วง 9 เดือน (มกราคม – กันยายน 2567) พบว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ เฉลี่ยตันละ 14,813 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 4.09 ข้าวเปลือกเจ้าพันธุ์ปทุมธานี 1 เฉลี่ยตันละ 12,486 บาท สูงขึ้นร้อยละ 7.35 ข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ยตันละ 12,038 บาท สูงขึ้นร้อยละ 2.98 และข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% เฉลี่ยตันละ 10,908 บาท สูงขึ้นร้อยละ 3.87

สำหรับการส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือน (มกราคม – กรกฎาคม) 2567 มีทิศทางที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 เช่นกัน โดยไทยส่งออกข้าวปริมาณ 5.68 ล้านตัน มูลค่า 132,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566  ร้อยละ 21.96 และร้อยละ 50.97 ตามลำดับ เมื่อแยกเป็นรายชนิดข้าว พบว่า ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ มีปริมาณการส่งออก  0.93 ล้านตัน มูลค่า 29,503 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 8.44 และร้อยละ 23.26 ข้าวเปลือกเจ้าพันธุ์หอมปทุมธานี 1 ปริมาณ 0.37 ล้านตัน มูลค่า 9,546 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.12  และร้อยละ 65.55 ข้าวเปลือกเหนียว ปริมาณ 0.17 ล้านตัน มูลค่า 4,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.31 และร้อยละ 32.23 และข้าวขาว ปริมาณ 3.64 ล้านตัน มูลค่า 76,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.42 และร้อยละ 86.51 ตามลำดับ  

นางธัญธิตา กล่าวอีกว่า ปัจจัยหนุนที่ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น มาจากความต้องการของประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัวจึงเป็นโอกาส  ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังคงมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67  ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร,2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67  ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ทาง ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท ,และ 4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67       เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าว ในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร อย่างน้อย 60 – 180 วัน (2 – 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่เกษตรกร โดยคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติและโรคระบาด ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายรวมการรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) และการรับประกันภัยเพิ่มเติมโดยสมัครใจ (Tier 2) จำนวน 21 ล้านไร่ วงเงินงบประมาณโครงการฯ รวม 2,302.16 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยจะให้ความคุ้มครองภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดและภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ (1) น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก (2) ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง (3) ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น (4)  ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง (5) ลูกเห็บ (6) ไฟไหม้และ (7) ช้างป่า