“อนุชา” เดินหน้าพลิกโฉมภาคเกษตรไทย ผลักดัน GDP ภาคเกษตรให้สูงขึ้น

  •  
  •  
  •  
  •  

อนุชา นาคาศัย

“อนุชา” เดินหน้าพลิกโฉมภาคเกษตรไทย ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว หวังผลักดันสร้างรายได้ให้เกษตรกรและ  GDP ภาคเกษตรให้ขยายตัวสูงขึ้น พร้อมกับส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรรายย่อยให้เข้าถึงเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

วันที่ 27 กันยายน 2566 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ระหว่างเป็นประธานเปิดงานสัมมนากล่าวเรื่อง “พลิกโฉมภาคเกษตรไทย ด้วยนโยบายการวิจัย นวัตกรรม และการรวมกลุ่ม” จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แผนงานคนไทย 4.0 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ณ โรงแรมแมนดาริน ถนนพระราม 4 เขตบางรัก กรุงเทพฯว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะ “เศรษฐกิจฐานราก”

ทั้งนี้หากสามารถพัฒนาภาคเกษตรให้เข้มแข็ง จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ภาคเกษตรขยายตัวสูงขึ้น และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลข GDP ภาคเกษตร มีสัดส่วนเพียง 8.9% ของ GDP รวม ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 60.2% และภาคบริการมีสัดส่วน 30.9% ตามลำดับ แต่ภาคเกษตรถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ เปรียบเหมือนรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ที่สร้างรายได้ให้กับประชากรไทยจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาภาคเกษตรกรยังพบปัญหาต่าง ๆ หลายด้าน เช่น การขาดแคลนเงินทุนและการขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ปัญหาต้นทุนการผลิตมีราคาสูงการขาดองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม การขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ดังนั้น ตนในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มุ่งเน้นผลักดันนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตภาคเกษตรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

สำหรับระยะสั้น ผลักดันการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุนและการขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน โดยส่งเสริมให้ภาคเกษตรสามารถมีแหล่งทุนในการสร้างรายได้โดยเร็วที่สุด เช่น ผลงานสำคัญที่ผ่านมาซึ่งเป็นนโยบายของสำนักนายกรัฐมนตรี คือ “โครงการโคล้านครอบครัว” ผ่านกองทุนหมู่บ้าน โดยเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการในวงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 79,610 กองทุน มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี

เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถกู้ยืมเงินทุนสำหรับเลี้ยงโค ครอบครัวไม่เกิน 50,000 บาท จำนวน 100,000 ครัวเรือน โดยเลี้ยงโค ครัวเรือนละ 2 ตัว รวม 200,000 ตัว เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำปศุสัตว์เพื่อสร้างรายได้ด้วยวิธีการที่ง่ายและเกิดความยั่งยืน เป็นต้น ทั้งนี้ แนวคิดจากโครงการดังกล่าวได้มีการทดลองนำร่องทำสำเร็จมาแล้วในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น

ระยะกลาง เมื่อภาคเกษตรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนและมีเงินทุนในการสร้างรายได้ที่มั่นคงแล้ว ผลักดันให้เกิดการพัฒนากลุ่มเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ความสามารถ ทั้งในการผลิต การค้า การตลาด การบริหารจัดการ การเงินและบัญชี มีรายได้สูง พร้อมทั้งรวมกลุ่มทำการผลิตและการตลาดเองในรูปแบบแปลงใหญ่ วิสาหกิจ ชุมชน หรือสหกรณ์ เป็นต้น

ระยะยาว ผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในภาคเกษตร ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเกษตร มุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการลงทุน เพื่อการวิจัยและพัฒนา กำหนดกรอบงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศการเกษตร และสร้างการเชื่อมโยงของข้อมูลอย่างเป็นระบบ รวมถึงส่งเสริมการนำงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง เน้นการเข้าถึงเทคโนโลยีการเกษตรของเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มเกษตรกร เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น

นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยตรง รวมทั้งเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารของประเทศอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จากปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบและความเสียหาย จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูก หันมาทำปศุสัตว์ เช่น โครงการโคล้านครอบครัว ที่ผมได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง เพราะความมุ่งหวังของผมคืออยากเห็นรายได้ภาคเกษตรเพิ่มขึ้น