“อุตตม” ชี้ช้นโยบายแบบเหวี่ยงแหแก้ปัญหาเกษตรกรไม่สำเร็จ แนะต้องเริ่มต้นที่โจทย์ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยการยกระดับเศรษฐกืจฐานราก ผ่าน 7 มิติ

  •  
  •  
  •  
  •  
“อุตตม” ชี้แนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนส่วนใหญ่คือกลุ่มเกษตรกร เพื่อพัฒนายกระดับเกษตรกร  เผยจะไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยนโยบายแบบเหวี่ยงแห เพราะภาคเกษตรมีความหลากหลายทั้งในเชิงกิจกรรม และอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ จึงต้องใช้นโยบายที่นำไปสู่การขับเคลื่อนมาตรการในทุกมิติอย่างสอดคล้องกัน และต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนแท้จริงในทุกด้านของชีวิตเกษตรกร และสร้างอนาคตที่ก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ในชุมชนไปพร้อมกัน ภายใต้แนวคิด “พัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน”
นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง และอดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ในเฟสบุ๊คส่วนตัว (ดร.อุตตม สาวนายน on Facebook) ว่า นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา เนื้อหาครอบคลุมการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่กับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงนโยบายด้านอื่นๆ
.
อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้คงจำเป็นต้องใช้ทั้งความสามารถ และความทุ่มเทอย่างสูง เนื่องจากสถานการณ์แวดล้อมทั้งภายในภายนอกประเทศยังเต็มไปด้วยความท้าทาย และไม่แน่นอน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หลังจากที่มูดีส์ (Moody’s Investor Service) ได้ออกรายงาน Credit Opinion ล่าสุดจัดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทยอยู่ที่ Baa1 ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ (stable outlook)
.
แต่ที่น่าสนใจคือ มูดีส์มีมุมมองสำหรับอนาคตประเทศไทยว่า มีโอกาสจะได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นได้ แต่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ ประเทศไทยจะต้องสามารถบริหารจัดการความท้าทาย และวางรากฐานเศรษฐกิจให้เติบโตเข้มแข็งในระยะยาวให้สำเร็จ มิฉะนั้นก็อาจเกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพและอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศต่อไป
.
โดยมูดีส์ชี้ว่าโจทย์ใหญ่ของไทยที่ต้องเผชิญประกอบไปด้วย
.
1. การเข้าสู่สังคมสูงวัย และแรงงานขาดทักษะในการทำงาน กระทบกับผลิตภาพ เป็นข้อจำกัดต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
.
2. ภาระทางการคลัง จากหนี้ภาครัฐจะยังสูงขึ้นอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากยังมีการบริหารการคลังแบบขาดดุลในระดับปานกลางต่อไปอีก 2-3 ปี ข้างหน้า
.
3. หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
.
4. ภัยพิบัติทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง
.
5. ความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ
.
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความท้าทายและความเสี่ยงทั้ง 5 ข้อข้างต้น เรื่องพื้นฐานที่เราควรดำเนินการคือรักษาสมดุลระหว่างการบริหารงบประมาณ และการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถของประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจมีความมั่งคั่งในภาวะแวดล้อมปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต
.
สำหรับโจทย์ใหญ่ที่มูดีส์ยกขึ้นมานั้น วันนี้ผมขอพูดถึงปัญหาเรื้อรังของประเทศที่บั่นทอนกำลังในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่มีผลกระทบเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงยิ่ง ได้แก่ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทั้งด้านความมั่งคั่ง โอกาส และอื่นๆที่ฝังอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
.
หากจะเริ่มแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผมเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งคือกลุ่มเกษตรกร โดยการแก้ไขปัญหา และพัฒนายกระดับเกษตรกร ไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยนโยบายแบบเหวี่ยงแห เพราะภาคเกษตรมีความหลากหลายทั้งในเชิงกิจกรรม และ อัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ จึงต้องใช้นโยบายที่นำไปสู่การขับเคลื่อนมาตรการในทุกมิติอย่างสอดคล้องกัน และต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนแท้จริงในทุกด้านของชีวิตเกษตรกร และสร้างอนาคตที่ก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ในชุมชนไปพร้อมกัน ซึ่งนโยบายดังกล่าวอยู่ภายใต้แนวคิด “พัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน”
โดยการดำเนินงานจะต้องทำในทุกมิติพร้อมๆกัน ดังนี้
.
1.ปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร การแก้ไขหนี้ของเกษตรกรต้องเป็นวาระแห่งชาติ โดยพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ในระยะเวลาที่เหมาะสม และที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้การพักหนี้นำไปสู่ปัญหาอีกในอนาคต จะต้องมีการเติมทุนใหม่ พร้อมเติมทักษะ และเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภาพการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และเป็นทุนสร้างอาชีพเสริมที่สอดคล้องกับความต้องการ และศักยภาพที่แท้จริงของแต่ละพื้นที่
.
2. ลดต้นทุนการผลิต มีมาตรการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรอย่างครบวงจร อาทิ เมล็ดพันธ์ุ ปุ๋ย เครื่องจักร และอุปกรณ์การเกษตร รวมถึงการติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของเกษตรกร
.
3. เพิ่มรายได้ ออกมาตรการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร โดยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ของประเทศไทย และนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ (AgriTech) มาใช้เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรม BCG
.
4. ลดความเสี่ยง สนับสนุนให้เกษตรกรทำประกันภัยภาคเกษตร และสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรให้มีความมั่นคง พร้อมทั้งจัดโซนนิ่งการทำเกษตรในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำและเหมาะสมกับพืชที่กำหนด
.
5. แก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง เร่งสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน การปรับปรุงเส้นทางระบายน้ำ โดยมีการจัดทำผังน้ำเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีระบบ
.
6. สิทธิในที่ดินทำกิน เร่งจัดสรรที่ดินทำกิน และกระจายสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐแก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกิน เร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทุกประเภท พร้อมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินทับซ้อนระหว่างเกษตรกรและรัฐ
.
7. ปฏิรูปกฎหมายให้เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม แก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกร เพื่อเปิดโอกาสในการหาช่องทางเพิ่มรายได้
.
รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งการขับเคลื่อนแผนงานและมาตรการใน 7 มิตินี้อย่างสอดคล้องกัน โดยชุดมาตรการที่นำมาใช้ควรมุ่งเน้นพัฒนา 3 เสาหลัก ของชุมชนทั้งในระดับตำบล จังหวัด และภูมิภาค อย่างเชื่อมโยง และเกื้อหนุนระหว่างกัน ได้แก่ ภาคการเกษตร การผลิตสินค้าและบริการ และการท่องเที่ยว ให้เข้าถึงพื้นที่ต่างๆของประเทศ เพื่อยกระดับการเกษตร การผลิต และการท่องเที่ยวของแต่ละชุมชนได้อย่างเต็มศักยภาพ
ทั้งนี้เครื่องมือสำคัญยิ่งคือ เทคโนโลยีดิจิทัล ที่สามารถนำมาใช้ในหลากหลายด้านของ 3 เสาหลัก เพื่อเร่งการพัฒนายกระดับทักษะและผลิตภาพ สะสมองค์ความรู้ข้อมูล ที่จะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ แก้ปัญหาต่างๆในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ คนรุ่นใหม่ก็จะไม่ต้องทิ้งชุมชนไปหางานในเมืองเหมือนเช่นที่ผ่านมา และในภาพรวมจะเป็นการแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง ที่เป็นปัญหาเรื้อรังในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย พร้อมทั้งตอบโจทย์การเพิ่มขีดความสามารถของคนไทยในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว