อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทยครึ่งปีส่อป่วน USDA คาดการณ์ราคาน้ำมันพืชในตลาดโลกตกฮวบ

  •  
  •  
  •  
  •  

จับตาสถานการณ์การผลผลิตพืชน้ำมันพืชในตลาดโลกครึ่งปีหลัง กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา คาดจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาลดลงเหลือกิโลกรัมละ 26.00 – 28.00 บาท ขณะที่การผลิตน้ำมันปาล์มของไทยอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท  ทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูง

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตและความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันของไทย ปี 2566 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ เมษายน 2566) ซึ่ง สศก. คาดการณ์ว่าจะมีเนื้อที่ให้ผล 6.252 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 6.150 ล้านไร่ (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.66) ผลผลิตปาล์มน้ำมันรวม 19.892 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 19.061 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.36)

สำหรับผลผลิตปาล์มน้ำมัน 19.892 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนน้ำมันปาล์มดิบ 3.581 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2565 ที่มีจำนวน 3.431 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.37) โดยผลผลิตในรูปน้ำมันปาล์มดิบ จะทยอยออกสู่ตลาดเฉลี่ยเดือนละ 0.264 – 0.330 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 0.225 ล้านตัน จึงส่งผลทำให้มีน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินสะสมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 0.039 – 0.105 ล้านตัน

ฉันทานนท์ วรรณเขจร

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีแรก สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับสูง จึงส่งผลทำให้ไทยยังสามารถส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง โดยช่วงมกราคม – พฤษภาคม 2566 ไทยส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้รวม 0.570 ล้านตัน และคาดว่า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม จะมีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือ 0.266 ล้านตัน (ระดับสต็อกปกติอยู่ที่ 0.300 ล้านตัน)

ล่าสุด จากการคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture : USDA) ณ เดือนพฤษภาคม พบว่า ผลผลิตพืชน้ำมันโลก (ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน เรพซีด ฯลฯ ) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม จึงทำให้ราคาพืชน้ำมันรวมถึงราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 26.00 – 28.00 บาท

ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งระดับราคาดังกล่าว ไทยไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาในตลาดโลก จึงส่งผลทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 0.350 – 0.400 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าระดับสต็อกปกติ และจะมีผลกระทบต่อราคาที่เกษตรกรได้รับ

ดังนั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มภายในประเทศให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงสร้างสมดุลน้ำมันปาล์มให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ โดยไม่กระทบกับราคาที่เกษตรกรขายได้ คณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้รับทราบโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2566 ตามมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) 1/2566 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นมาตรการคู่ขนานของโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมันที่กิโลกรัมละ 4 บาท โดยโครงการฯ ดังกล่าว มีเป้าหมายลดน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน จำนวน 150,000 ตัน ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการฯ ในอัตรากิโลกรัมละ 2.00 บาท โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

1) ระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และ 2) ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารจัดการมีความยืดหยุ่นและทันต่อสถานการณ์ จึงได้กำหนดระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบขั้นต่ำไว้ที่ 250,000 ตัน โดยให้เป็นอำนาจของ กนป. เป็นผู้พิจารณาระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบเหมาะสมที่จะใช้ในการพิจารณาสนับสนุนค่าบริหารจัดการการส่งออกต่อไป

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงให้ความสำคัญในเรื่องของเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน การตัดปาล์มคุณภาพ หรือการตัดปาล์มสุก เพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ให้เกษตรกรได้ เพราะอัตราการสกัดน้ำมันปาล์มทุกๆ 1% ที่เพิ่มขึ้น เกษตรกรจะได้ราคาเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 0.30 บาท และเมื่อพิจารณาถึงมูลค่าเศรษฐกิจแล้ว พบว่า อัตราการสกัดน้ำมันปาล์ม ที่เพิ่มขึ้นทุก 1 % จะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท

รวมถึงการเร่งผลักดันตามแนวทาง BCG โดยเฉพาะเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) การใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญให้ทุกประเทศที่ต้องการส่งออกสินค้าไปกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปต้องถือปฏิบัติ (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ตลอดจนส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นของผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน ซึ่งไทยได้กำหนดเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 อีกด้วย