ธ.ก.ส. เผยผลการดำเนินงาน ปีบัญชี 65 จ่ายสินเชื่อสู่ภาคชนบทกว่า 8.7 แสนล้าน เดินหน้านำนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าผลผลิตและสร้างมาตรฐานสากล

  •  
  •  
  •  
  •  

ไพศาล หงษ์ทอง

ธ.ก.ส. เผยผลงานปีบัญชี 2565 เติบโตต่อเนื่องตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชน โดยจ่ายสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างปีกว่า 8.7 แสนล้านบาท พร้อมวางเป้าหมายปี 2566 มุ่งสานต่อการเป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยใช้แพลตฟอร์ม เชื่อมโยงบริการทางการเงินและธุรกิจภาคการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จัดทำฐานข้อมูลลูกค้า เพื่อวางแผนการผลิตที่เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของตลาด พร้อมผนึกกำลังเครือข่ายด้านการเกษตร เติมความรู้เพิ่มศักยภาพการผลิต การแปรรูป  การเชื่อมโยงทางการตลาด หนุนการพัฒนาและยกระดับชุมชนภายใต้หลัก BCG สู่การเป็นเกษตรมูลค่าสูง

นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยผลการดำเนินงานปีบัญชี 2565 (1 เมษายน 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566) ว่า ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทระหว่างปี จำนวน 878,338 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสมคงเหลือ จำนวน 1,636,778 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชีจำนวน 30,509 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.90 ยอดเงินฝากสะสม 1,829,549 ล้านบาท มีสินทรัพย์จำนวน 2,262,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.15 หนี้สินรวม 2,109,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.08 และส่วนของเจ้าของ 153,001 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.15 และมีกำไรสุทธิ จำนวน 7,989 ล้านบาท ด้านอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) อยู่ที่ร้อยละ 0.36 อัตราตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ร้อยละ 5.38 ขณะที่ NPLs อยู่ที่ร้อยละ 7.68 โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ร้อยละ 12.63 สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาและลดภาระของเกษตรกร ที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ธ.ก.ส. ได้จัดทำมาตรการในการดูแลด้านหนี้สินและเสริมสภาพคล่องลูกค้า ได้แก่ 1) โครงการชำระดีมีคืน โดยคืนดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าจำนวน 3,361,769 ราย 2) โครงการลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน 2565 ที่ลดดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าไปแล้วจำนวน 467,965 ราย 3) มาตรการจ่ายดอกตัดต้น แก้หนี้ภาคครัวเรือนให้แก่ลูกค้าไปแล้วจำนวน 119,723 ราย 4) มาตรการจ่ายน้อย ผ่อนคลาย ได้ลดดอกเบี้ย แก้หนี้ภาคครัวเรือนให้แก่ลูกค้าไปแล้วจำนวน 214,525 ราย 5) มาตรการทางด่วนลดหนี้ แก้หนี้ภาคครัวเรือนให้แก่ลูกค้าไปแล้วจำนวน 2,692 ราย และ 6) โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืน โดยสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 82,490 สัญญา จำนวนเงิน 17,722 ล้านบาท

ด้านการดำเนินนโยบายที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ธ.ก.ส. ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการเข้าไปดูแลชุมชนตามหลัก BCG Model ได้แก่ โครงการแก้หนี้ แก้จนตามหลัก D&MBA โดยดำเนินการไปแล้ว 77 แห่ง ทั่วประเทศ    ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มและลดต้นทุนการผลิตไปแล้วจำนวน 7,600 ราย โครงการยกระดับธนาคารต้นไม้สู่ชุมชนไม้มีค่า กว่า 404 ชุมชน โครงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ปลูกต้นไม้ไปแล้ว 150,790 ต้น รวมจำนวนต้นไม้ที่ ธ.ก.ส. สนับสนุนดูแล 12,414,477 ต้น โครงการการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล  เพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนที่เป็นผู้ใช้น้ำให้ยกระดับไปสู่ชุมชนผู้ผลิต โดยเติมองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำบาดาลและระบบกระจายน้ำบาดาล เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการบริหารน้ำบาดาลสำหรับ การทำเกษตรกรรม โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 1,670 แห่ง ทั่วประเทศ

โครงการลดการเผาวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การปลูกข้าวและอ้อยเพื่อลดค่า PM 2.5 สนับสนุนการนำฟางข้าวและใบอ้อยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยลดของเสียจากเศษวัสดุการเกษตรให้เป็นศูนย์ (Zero waste) และเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุการเกษตร ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมโครงการ คิดเป็นพื้นที่ทำนารวม 25,850 ไร่ และเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเข้าร่วมโครงการ คิดเป็นพื้นที่ปลูกอ้อย รวม 397,198 ไร่ ซึ่งสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนเพิ่มให้กับเกษตรกรกว่า 420 ล้านบาท จากการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนภาคเกษตรกรรมในการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) ผ่านการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ และการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาด รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติผ่านสินเชื่อ Green Credit และสินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืนอีกด้วย

นายไพศาล กล่าวอีกว่า ธ.ก.ส. ยังทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ผ่านมาตรการและโครงการสำคัญ ๆ ได้แก่ มาตรการรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร ผ่านโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว      ปีการผลิต 2565/66 โดยโอนเงินส่วนต่างเพื่อชดเชยเป็นรายได้ให้แก่เกษตรกรในกรณีสินค้าราคาตกต่ำ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการรับโอนเข้าบัญชีโดยตรงไปแล้วกว่า 2.6 ล้านราย เป็นจำนวนเงินกว่า 7,863.72 ล้านบาท โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตและการเก็บเกี่ยวในอัตรา   ไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 4.6 ล้านราย เป็นจำนวนเงินกว่า 54,020.70 ล้านบาท โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยตัดสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 เพื่อบรรเทาปัญหาผลผลิตที่ล้นตลาดทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ และช่วยสนับสนุนรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย โดยโอนเงินส่วนต่างแก่เกษตรกรไปแล้วกว่า 114,890 ราย เป็นเงินกว่า 8,110.96 ล้านบาท

โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 31,747 ราย จำนวนเงินกว่า 22,496.99 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร มีองค์กรและสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 58 แห่ง จำนวนเงินกว่า 4,258.11 ล้านบาท โครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สนับสนุนสินเชื่อไปแล้วกว่า 14.67 ล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ สนับสนุนสินเชื่อไปแล้วจำนวน 6,308.38 ล้านบาท โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 1,593 ราย เป็นจำนวนเงิน 14,586 ล้านบาท โครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 2,852 ล้านบาท และสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติและ ภัยพิบัติไปแล้วกว่า 13.36 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ธ.ก.ส. ยังได้ดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงการคลังในการเป็นหน่วยงาน    รับลงทะเบียนของโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจัดเตรียมอัตรากำลัง เครื่องมืออุปกรณ์และสถานที่ ผ่านการตั้งจุดลงทะเบียนที่สาขา ธ.ก.ส. กว่า 1,200 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงประสานหน่วยงานในพื้นที่ เช่น อบต. กำนันและผู้ใหญ่บ้าน กำหนดจุดให้บริการนอกสถานที่ เพื่อลดภาระการเดินทางและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทะเบียนในการเข้าร่วมโครงการพร้อมกับ การลงทะเบียนยืนยันตัวตน (E-KYC) โดยมีผู้มาลงทะเบียนกับ ธ.ก.ส. ทั้งสิ้นกว่า 6,000,000 คน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 (คาดการณ์ ณ มีนาคม 2566)     จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.5 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนการบริโภคในประเทศให้ขยายตัวได้ดีขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐปี 2566 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ

ในส่วนของห่วงโซ่อุปทาน  การผลิตสามารถกลับมาดำเนินได้ตามปกติ ส่งผลให้ภาคการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย สำหรับเศรษฐกิจเกษตร จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 แม้ว่าจะมีปัจจัยกดดันจากการส่งออกสินค้าเกษตรที่คาดว่า  จะปรับตัวลดลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ขยายตัวลดลง อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และสถานการณ์ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังอาจเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง แนวโน้มราคาน้ำมันดิบลดลงกระทบต่อแนวโน้มราคายางพาราและราคาปาล์มน้ำมัน ประกอบกับต้นทุนค่าอาหารสัตว์สูงขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจของจีนที่เพิ่มขึ้น (ผู้นำเข้าสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของไทย) และนโยบายรัฐมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร ที่จะเป็นแรงสนับสนุนให้รายได้ในภาคเกษตรยังคงเติบโตได้จากปีก่อน

สำหรับปีบัญชี 2566 (1 เมษายน 2566 – 31 มีนาคม 2567) ธ.ก.ส. ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ สร้างวินัยทางการเงินและการออมเงิน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สนับสนุนการแปรรูปและอุตสาหกรรมการเกษตร เน้นการเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตรไปสู่เกษตรมูลค่าสูง เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและสร้างรายได้ที่มั่นคงยั่งยืนให้กับเกษตรกร รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มในการให้บริการแบบครบวงจร ตอบโจทย์ความต้องการในยุคดิจิทัล ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการผลิต การเชื่อมโยงห่วงโซ่ธุรกิจภาคการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตและสามารถจำหน่ายสินค้าเกษตร ได้ตรงกับความต้องการตลาดอย่างแท้จริง โดย ธ.ก.ส. วางเป้าหมายสินเชื่อเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 35,000 ล้านบาทเงินฝากเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 12,000 ล้านบาท และ NPLs/Loan อยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 6.70 ด้านการยกระดับชุมชนสู่ความยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. มุ่งเน้นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากภายใต้ BCG Model ได้แก่ การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย การยกระดับการผลิตสู่เกษตรมูลค่าสูง การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Zero Waste) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ (New Gen) ทายาทเกษตรกร และ Smart Farmer  เข้าทดแทนเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น การยกระดับและต่อยอด SMEs วิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตรสู่การเป็นเกษตรหัวขบวน การสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกรทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การจับคู่ธุรกิจ การร่วมลงทุน (Venture Capital) กับบริษัทที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมาช่วยสนับสนุนและต่อยอดธุรกิจการเกษตร หรือเป็น หัวขบวนที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างเกษตรมูลค่าสูง การสนับสนุนและยกระดับชุมชนที่มีความพร้อมไปสู่ชุมชนอุดมสุขที่มีความมั่นคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายผ่านโครงการ 1 University 1 Community (1U1C) ในการเติมองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

โฆษก ธ.ก.ส. กล่าวต่อไปว่า  ธ.ก.ส. มุ่งมั่นในดำเนินการตามพันธกิจในการเป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับความสำเร็จให้กับเกษตรกรสู่อนาคตที่ดีกว่าอย่างยั่งยืน โดยก้าวเดินและเติบโตไปพร้อม ๆ กับธนาคาร ดั่งปณิธานของ ธ.ก.ส. ที่มุ่งมั่นในการสร้าง Better Life , Better Community , Better Pride เพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกรไทยสู่สังคมที่ภาคภูมิ