สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์(7-10 มี.ค.66) ราคาข้าว-ข้าวโพดยังลดลงต่อเนื่อง

  •  
  •  
  •  
  •  
ข้าวโพด : ราคาลดลง
      ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ ราคาปรับลงจากหาบละ 786 บาท เป็นหาบละ 774 บาท เนื่องจากข้าวโพดหลังนาออกผลผลิตมากขึ้น
      ด้านตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2566 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2566 ราคาอยู่ที่ 625.50 เซนต์/บุชเชล ราคาปรับลดลงหลังจากมีการประกาศรายงานอุปสงค์อุปทานโลก
         โดยสต๊อกข้าวโพดสหรัฐฯ ฤดูกาล 2565/66 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,342 ล้านบุชเชล สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 1,308 ล้านบุชเชล เนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัว ประกอบกับความคืบหน้าในการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดสหรัฐฯ เร็วขึ้น อยู่ที่ 35% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ด้านปัจจัย สถานการณ์ ยูเครน-รัสเซีย นักวิเคราะห์มองว่าจะมีการต่อสนธิสัญญาการส่งออกธัญพืชที่กำลังจะสิ้นสุดลงในสัปดาห์หน้า (วันที่ 18 มีนาคม 2566)
      แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะยืนอ่อน
ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว
      กากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ราคาทรงตัวในระดับสูงที่กิโลกรัมละ 23.40 บาท คาดการณ์ผลผลิตในประเทศอาร์เจนตินายังคงปรับลดลงจากภาวะความแห้งแล้ง ขณะที่ปริมาณผลผลิตในประเทศบราซิลปรับเพิ่มขึ้น การเก็บเกี่ยวยังคงราบรื่น ส่วนปริมาณซื้อในตลาดปรับตัวขึ้นเล็กน้อย
      ด้านตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2566 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2566 ราคาอยู่ที่ 1,517.75 เซนต์/บุชเชล และกากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2566 ราคาอยู่ที่ 485.70 เหรียญสหรัฐฯ/ช็อตตัน ราคาปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลกระทบภัยแล้งในประเทศอาร์เจนตินารุนแรงเกินกว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยคาดการณ์ผลผลิตถั่วเหลืองล่าสุดอยู่ที่ 33 ล้านตัน
        ขณะที่ตลาดคาดการณ์อยู่ที่ 36.6 ล้านตัน และยังมีโอกาสที่จะถูกปรับลดลงได้อีก โดยปัจจุบันถือว่าเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2551/52 ถึงแม้ว่าการเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศบราซิลกลับเข้าสู่ความเร็วปกติ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนลดลงเกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น ปัจจุบันรายงานความคืบหน้าการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 39% เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 40%
      แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะทรงตัว
ปลาป่น : ราคาเพิ่มขึ้น
      ราคาปลาป่นในประเทศจีนปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่ประเทศเปรูอยู่ในช่วงปิดฤดูกาลจับปลา และปริมาณซื้อที่หน้าท่าเรือปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
      ขณะที่สถานการณ์ราคาปลาป่นในประเทศ ปรับเพิ่มขึ้น โดยปลาป่นเกรดกุ้ง ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 52.00 บาท เป็นกิโลกรัมละ 53.00 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 46.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 47.70 บาท และ ปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 43.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 44.70 บาท
      สำหรับปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 43.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 44.20 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 โปรตีน ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 41.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 42.70 บาท
      แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะทรงตัว
ข้าว : ราคาลดลง
      ตลาดซื้อขายข้าวต่างประเทศสัปดาห์นี้ ราคายังคงปรับลดลงเล็กน้อย โดยข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาลดลงจากตันละ 484 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 481 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 431 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 434 เหรียญสหรัฐฯ
      ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ยืนราคาที่กระสอบละ 1,530 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้นจากกระสอบละ 1,350 บาท เป็นกระสอบละ 1,370 บาท
      แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะทรงตัว
สุกร : ราคาทรงตัว
      สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ราคาสุกรขุนอยู่ที่ 76-88 บาทต่อกิโลกรัม ด้านลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,200 บาท (บวก/ลบ 78)
      ปัจจุบันราคาขายจริงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงขายได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต เนื่องจากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูง
      แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะทรงตัว
ไก่เนื้อ : ราคายืนอ่อน
      ราคาแนะนำไก่เนื้อมีชีวิต ณ หน้าฟาร์ม จากสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ อยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท ด้านลูกไก่เนื้อ ราคาตัวละ 11.50 บาท และลูกไก่ไข่ ราคาตัวละ 28.00 บาท
      แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะทรงตัว
ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว
      เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ แจ้งราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ยืนราคาที่ฟองละ 3.20 บาท
      แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะทรงตัว
ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF