วัตถุดิบอาหารสัตว์ ห่วงโซ่ผลิตสำคัญปศุสัตว์ไทย…กลไกตลาด คำตอบของปัญหา

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ปริวรรธน์ โพธนาม นักวิชาการด้านปศุสัตว์

     ความยืดเยื้อของสงครามยูเครน-รัสเซีย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 และยังไม่มีทีท่าจะยุติ  ทำให้ห่วงโซ่การผลิตทั้งราคาพลังงาน อาหาร วัตถุดิบอาหารสัตว์ ฯลฯ ยังมีราคาอยู่ในระดับสูง   ส่วนการส่งออกของประเทศไทยในปี 2565 เริ่มชะลอตัวตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว  สะท้อนให้เห็นถึงการเผชิญความท้าทายของเศรษฐกิจโลก สอดคล้องกับแนวโน้มการส่งออกของหลายประเทศในเอเชีย

     ประเทศไทยที่มุ่งสู่การเป็นครัวของโลก ด้วยการพัฒนาการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรตามหมุดหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13  เรื่องของต้นทุนการผลิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ  โดยในภาคปศุสัตว์ต้องประสบกับภาวะต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  แม้ธรรมชาติของราคาสินค้าเกษตรจะมีขึ้นมีลง แต่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 และราคาอยู่ในเกณฑ์สูงจนถึงปัจจุบัน   ยิ่งเมื่อเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ต่างก็เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชอาหารสัตว์อันดับต้นๆของโลก และประกาศห้ามส่งออก เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่ระงับการส่งออก ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ และยังกระทบกับต้นทุนด้านพลังงาน ส่งผลให้ค่าขนส่งสินค้าปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย

     ในปี 2565 นี้ จึงนับเป็นปีทองของบรรดาธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์  เพราะราคาพุ่งสูงขึ้นกันอย่างถ้วนทั่ว   ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลายข้าว มันสำปะหลัง ข้าวสาลี และกากถั่วเหลือง จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ปี 2564 พบว่า มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10.05, 11.98, 7.79, 8.94 และ 16.51 บาท ตามลำดับ  ล่าสุดราคาเฉลี่ยเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อยู่ที่กิโลกรัมละ 12.25, 13.00, 9.25, 14.25 และ 23.15 บาทตามลำดับ หรือปรับขึ้นร้อยละ 21.89, 8.51, 18.74, 59.39 และ 40.22 ตามลำดับ

     สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย โดยพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมฯ ระบุว่าแนวโน้มราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังทรงตัวสูงต่อเนื่องถึงไตรมาสแรก ปี 2566  การปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกชนิด จึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็น  รวมถึงการปรับเพิ่มราคาอาหารสัตว์ที่สอดคล้องกับต้นทุนจริงที่เกิดขึ้น  เฉกเช่นเดียว กับที่ภาครัฐได้อนุมัติให้กับผู้ประกอบการผลิตบะหมี่สำเร็จรูป

    ในภาวะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ได้ช่วยเหลือตัวเองทั้งการปรับประสิทธิภาพการผลิต และสรรหาวัตถุดิบทดแทนใหม่ เพื่อช่วยลดต้นทุน แต่ส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาในมาตรการนำเข้า เช่น โควตา และภาษี  จึงต้องการให้ภาครัฐปรับนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการอาหารสัตว์ และผู้ประกอบการในภาคปศุสัตว์   เพื่อให้พอจะดำเนินการต่อไปได้

    สำหรับภาคปศุสัตว์ โดยเฉพาะหมู ที่ปีนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงอยู่ระหว่างทยอยกลับเข้าสู่ระบบการเลี้ยง หลังประสบปัญหาการระบาดของ ASF เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา  ที่ทำให้ผลผลิตหมูหายไปจากระบบกว่าร้อยละ 50 แต่ต้องมาเผชิญกับขบวนการหมูเถื่อนเข้ามาสวมรอย   ยังดีที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการกวดขันอย่างเข้มงวด ตรวจจับอย่างต่อเนื่อง หากต้องมาแบกรับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูง  คงยากที่ผู้เลี้ยงจะเดินหน้าการเลี้ยงต่อไป  และจะยิ่งส่งผลกระทบเป็นโดมิโนทั้งห่วงโซ่การผลิตถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชไร่ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง

    การที่ไทยจะรักษาความมั่นคงอาหาร  จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องยกเลิกมาตรการที่จะส่งผลให้เกิดการบิดเบือน “กลไกตลาด” มิฉะนั้นแล้ว จะกลายเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรทั้งวงจรการผลิต ไม่แคล้วที่จะเป็นเหตุให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องล้มหายตายจากไป เพราะไม่สามารถทนแบกรับกับภาวะการขาดทุนได้

     หากเป็นเช่นนั้น “ความมั่นคงอาหาร” ที่ยั่งยืนของไทยคงถึงคราวสั่นคลอน