“เฉลิมชัย“ รุกลึกทุกตำบลทั่วประเทศ ขับเคลื่อนโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรแพลตฟอร์มใหม่เป็นครั้งแรกของประเทศ “อลงกรณ์”เผยความคืบหน้าตั้งกลไกใหม่ครบ 7 พันตำบลเดือนหน้า หวังสร้างศักยภาพใหม่ภาคเกษตรของไทย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เปิดเผยวันนี้ ( 17 ก.ค.65) ว่า กระทรวงเกษตรฯ และทุกภาคีภาคส่วนกำลังเร่งขับเคลื่อนโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากทุกจังหวัดเป็น กลยุทธ์ใหม่ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ครอบคลุมลึกลงไปใน 70,000 หมู่บ้าน 7,000 ตำบล 878 อำเภอ รวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วย
แนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนโดยตนได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับจังหวัดและคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับอำเภอ 878 อำเภอตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาและพัฒนา ภาคการเกษตรของไทยโดยเฉพาะปัญหาความยากจน หนี้สินและความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ได้สั่งการให้เร่งจัดตั้งกลไกพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลหมู่บ้านให้เสร็จโดยเร็ว
ดานนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวถึงความคืบหน้าว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลคาดว่าจะครบ 7,435 ตำบล ภายในเดือนหน้าซึ่งเป็นการผนึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับทุกภาคีภาคส่วนในแต่ละตำบลโดยเฉพาะ กระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นกลไกการพัฒนาภาคเกษตรอย่างยั่งยืน
นับเป็นครั้งแรกที่มีโครงสร้างและระบบการพัฒนาภาคเกษตรที่หยั่งลึกลงถึงตำบลหมู่บ้านชุมชนใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานครเพื่อดึงพลังชุมชน Community Empowerment) ออกมารวมพลังการแก้ไขปัญหาในอดีตและปัจจุบันรวมทั้งการพัฒนาสู่อนาคตที่ดีขึ้น ซึ่งมีปลัดอำเภอ เกษตรตำบล อบต.และอาสาสมัครเกษตร (อกษ.) เป็นแกนหลักร่วมกับตัวแทนภาคเอกชนภาควิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิในหมู่บ้านตำบลเชื่อมโยงกับคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับอำเภอระดับจังหวัดและศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC
ทั้งนี้ในแต่ละจังหวัดโดยมีหน้าที่จัดทำและขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรแบบยั่งยืนภายใต้แพลตฟอร์มการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ เช่น โครงการพัฒนาระบบชลประทานชุมชน โครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โครงการศูนย์บริการจัดการดิน-ปุ๋ยชุมชน โครงการร้านค้าสีเขียว (Green Shop) แบบออนไลน์และออฟไลน์ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง โครงการศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) โครงการเศรษฐกิจพอเพียงพืช-ประมง-ปศุสัตว์ โครงการช่างเกษตร โครงการเกษตรพลังงาน โครงการเกษตรสุขภาพและโครงการเกษตรท่องเที่ยว เป็นต้น