ภาคเอกชนซาอุฯ เล็งจับมือภาคเอกชนไทยแบบ B2B ดันเป้าหมาย Saudi Vision 2030 ด้านความมั่นคงทางอาหาร คาดปี 73 มีมูลค่ากว่า 30 ล้านล้านบาท

  •  
  •  
  •  
  •  

ภาคเอกชนซาอุดิอารเบีย สนใจร่วมมือภาคเอกชนไทยในรูปแบบ Business to Business มั่นใจไทยมีศักยภาพ ทักษะ และความชำนาญด้านการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเป็น หวังจะส่งเสริมให้ซาอุฯสามารถบรรลุเป้าหมาย Saudi Vision 2030 ด้านความมั่นคงทางอาหารได้  คาดภายในปี 2573 การค้าสินค้าเกษตรและอาหารของซาอุฯ จะมีมูลค่ามากกว่า 30 ล้านล้านบาท

นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังได้รับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนร่วมหารือกับ Mr. Krayem S. Alenezi หัวหน้าคณะผู้แทนหอการค้ามณฑลริยาด (Riyahd Chamber) ซาอุดีอาระเบีย พร้อมคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การหารือครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบีย พร้อมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้เพื่อร่วมประชุมขับเคลื่อนและส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีไทย – ซาอุดีอาระเบีย ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การนำเข้าปุ๋ย และการผลักดันการจัดทำความร่วมมือด้านการเกษตร โดยการเยือนไทยในครั้งนี้ของภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันให้กลับสู่ระดับปกติโดยสมบูรณ์เมื่อเดือนมกราคม 2565

สำหรับหอการค้ามณฑลริยาดมีความประสงค์ที่จะผลักดันความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายในลักษณะ Business to Business (B2B) เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพ ทักษะ และความชำนาญด้านการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเป็นอย่างมาก ซึ่งจะส่งเสริมให้ซาอุดีอาระเบียสามารถบรรลุเป้าหมาย Saudi Vision 2030 โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางอาหารได้ ซึ่งซาอุดีอาระเบียแจ้งว่า ภายในปี 2573 การค้าสินค้าเกษตรและอาหารของซาอุฯ จะมีมูลค่ามากกว่า 30 ล้านล้านบาท

ดังนั้นจึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัย รวมทั้งความสอดคล้องต่อกฎระเบียบการนำเข้าของประเทศคู่ค้า

“กระทรวงเกษตรฯ มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนของซาอุดีอาระเบียในประเด็นด้านการค้าและการลงทุนต่างๆ รวมทั้งยินดีให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนของซาอุดีอาระเบีย เพื่อร่วมเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของทั้งสองฝ่ายต่อไป” นายสมชวน กล่าว

ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 38 ของไทย คิดเป็นมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละ 6,836 ล้านบาท และไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับซาอุดีอาระเบียมาโดยตลอด โดยสินค้าเกษตรและอาหารส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ปลาทูนา ปลาสคิปแจ็ค และปลาโบนิโต (ชนิดซาร์ดา) ข้าว สับปะรด ข้าวโพดหวาน (ซีเมย์พันธุ์แซกคาราตา) อาหารสุนัขหรือแมว จัดทำขึ้นเพื่อการขายปลีก ขนมปังกรอบ อาหารปรุงแต่ง ของปรุงแต่งที่ผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส ลูกหมาก รวมทั้งเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์