กางตัวเลขส่งออกค้าเกษตรไทยช่วงโควิดยังแข็งแกร่ง ปี 64 เฉพาะกลุ่ม AFT ไม่รวมอาเซียนโตกว่า 32%

  •  
  •  
  •  
  •  

สศก.กางตัวเลขส่งออกค้าเกษตรไทยไปยังตลาดโลกในช่วงโควิดยังแข็งแกร่ง เผยปี 2564 ส่งออกยังเติบโตขึ้น 15.96 % มีมูลค่ามูลค่า 1,273,761 ล้านบาท โดยเฉพาะส่งออกไปยังประเทศที่ไทยทำความตกลงการค้าเสรี ไม่นับรวมประชาคมอาเซียน ภาพรวมการค้าอยู่ที่ 760,148 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.42 เป็นสินค้าเกษตรมูลค่ากว่า 597,634 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.81) ไทยเปรียบดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 435,120 ล้านบาท ขณะที่ในกลุ่มประเทศอาเซียนไทยส่งออกสินค้าเกษตรไทยมูลค่า 279,737 ล้านบาท มียางธรรมชาติที่ส่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดตามด้วยผลไม้

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด – 19 ในปี 2564 ที่ผ่านมาว่า แม้ว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่สถิติภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในช่วง 11 เดือนของปี 2564 (มกราคม – พฤศจิกายน 2564)ยังคงแข็งแกร่ง โดยภาพรวมการค้าไทยกับทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 1,273,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 1,098,475 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.96)

ฉันทานนท์ วรรณเขจร

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่ไทยทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ซึ่งไม่นับรวมประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี อินเดีย ฮ่องกง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า ภาพรวมการค้า อยู่ที่ 760,148 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.42) โดยการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย มีมูลค่ากว่า 597,634 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.81)

ตารางส่งออกสินค้าเกษตรไทย (ม.ค.พ.ย.64)

ทั้งนี้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 435,120 ล้านบาท ตลาดส่งออกที่ขยายตัวมากที่สุด ได้แก่ อินเดีย จีน สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ตามลำดับ สำหรับสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางธรรมชาติ มูลค่า 159,157 ล้านบาท ผลไม้สด มูลค่า 128,818 ล้านบาท สตาร์ชและอินูลิน มูลค่า 46,979 ล้านบาท มันสำปะหลัง มูลค่า 36,034 ล้านบาท กุ้งสด/แช่เย็น/แช่แข็ง มูลค่า 26,210 ล้านบาท และน้ำมันปาล์ม มูลค่า 22,349 ล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ การค้าสินค้าเกษตรของไทยกับประชาคมอาเซียน 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ และเวียดนาม ระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2564 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 พบว่า ภาพรวมการค้ามูลค่าการค้ารวม 402,912 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.71) โดยการส่งออกสินค้าเกษตรไทย มีมูลค่า 279,737 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.01) ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า คิดเป็นมูลค่า 156,563 ล้านบาท

ในการส่งออกไปยังคู่ในกลุ่มประเทศในอสเซียนส่งออกไปยัง มาเลเซีย เป็นอันดับหนึ่ง และรองลงมา ได้แก่ เวียดนาม และ กัมพูชา ตามลำดับ สินค้าเกษตรส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องดื่มประเภทนมยูเอชที นมถั่วเหลือง มูลค่า 42,297 ล้านบาท น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล มูลค่า 35,054 ล้านบาท ยางพารา (ธรรมชาติ) มูลค่า 27,057 ล้านบาท ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ มูลค่า 25,928 ล้านบาท และของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง และนม มูลค่า 22,583 ล้านบาท

ด้านนายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเสริมว่า จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า สถิติการค้าสินค้าเกษตรไทย ยังถือว่ามีทิศทางที่ดี โดยส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับตัวตามสภาวการณ์ ทำให้ไทยมีโอกาสและแนวโน้มในการส่งออกเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัย ที่สนับสนุนภาคการเกษตรไทยจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2564 ซึ่งส่งผลดีต่อการเพาะปลูกพืช และการประมง

วินิต อธิสุข

ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวดีขึ้น สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในการเพิ่มกำลังการผลิต รวมไปถึงการดำเนินนโยบายและมาตรการเชิงรุกและเชิงรับของภาครัฐ การขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่ภาครัฐได้มีการส่งเสริมการแสวงหาตลาดทดแทนโดยการจัดทำ FTA

นายวินิต กล่าวอีกว่า FTA ฉบับล่าสุดของไทย ที่เพิ่งจะมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่จะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพ จากการที่ชาติภาคีสมาชิกมีการลดและยกเลิกภาษีศุลกากรให้กับสินค้าเกษตรไทยเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่เดิมกับไทย เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ และแป้งมันสำปะหลัง

รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเพิ่มโอกาสในการขยายห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยผู้ประกอบการมีทางเลือกในการใช้แหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นจากการนำวัตถุดิบมาใช้ในการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า ตลอดจนการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน เช่น การลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า และการปรับประสานกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าให้มีมาตรฐานเดียวกัน

ที่สำคัญ กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสินค้าเกษตร ทั้งพืช ประมง และปศุสัตว์ ในทุกกระบวนการอย่างเข้มงวด ดังนั้น สินค้าเกษตรไทยจึงยังคงสามารถส่งออกได้ในตลาดโลกภายใต้สถานการณ์โควิด-19 รวมไปถึงการปฏิบัติตามแนวทางสากลในการควบคุมสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตตามแนวทางการปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดขององค์การ FAO เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและประเทศคู่ค้าต่าง ๆ