รวมพลคนเลี้ยงกุ้ง สะท้อนสารพัดปัญหาทำส่งออกกุ้งไทยตกอันดับ ชี้ทางรอด “7 แนวทาง 1 ความร่วมมือ รัฐปรับบทบาท”

  •  
  •  
  •  
  •  

รวมพลคนเลี้ยงกุ้ง สะท้อนถึงสารพัดปัญหาโดยเฉพาะโรคระบาดทั้งทั้งอาการขี้ขาว ตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วน ส่งผลทำให้อันดับส่งออกกุ้งไทยตกฮวบจากอันดับต้นๆของโลกมาอยู่ที่อันดับที่ 6-7 สมาคมกุ้งไทยสบช่องเสนอ 6 ข้อขอให้ทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกัน หวังกู้อันดับการส่งออกให้อยู่อันดับต้นๆอีกครั้ง ชี้ “แนวทาง ความร่วมมือ รัฐปรับบทบาท”  เน้นรัฐต้องมีเป้าแผนพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนชัดเจนเร่งแก้ปัญหาโรคระบาดได้เบ็ดเสร็จพัฒนาใช้เทคโนโลยีเลี้ยงเกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำเพิ่มความสามารถในการแข่งขันสร้างแบรนด์กุ้งไทย The Best of the best Shrimp in the World- ผนึกกำลังทั้งห่วงโซ่การผลิต เพื่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยอยู่รอดอย่างยั่งยืน  ตั้งเป้าปี 2565 จะผลิตกุ้งไทย 3 แสนตันจากปีนี้ คาดว่าทั้งปีผลิตได้ 2.8 แสนตัน

     ดร.สมศักดิ์   ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวระหว่างการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ผ่านทางออนไลน์ (Zoom Meeting) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.64 ว่า สถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2564 มีผลผลิตรวมกว่า 280,000  ตัน ขณะที่ผลผลิตปี 2563 อยู่ที่  270,000 ตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในจำนวนนี้ส่งออกกุ้งเดือน ม.ค.- ต.ค.64 มีปริมาณ 128,758  ตัน มูลค่า 39,251 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่ส่งออกปริมาณ 123,297  ตัน มูลค่า 35,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่า ที่ร้อยละ 4 คาดปี 2565 ผลิตได้  300,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ส่งออกเพิ่มร้อยละ 9  ตามลำดับ แม้ประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ค่าขนส่งราคาสูง และอื่นๆก็ตาม   


     ด้านนายปกครอง  เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างว่า ผลผลิตปี 2564 คาดการณ์ว่ามีผลผลิตประมาณ 92,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 12 พบการเสียหายโรคตัวแดงดวงขาว จ.นครศรีธรรมราช และสงขลา  โดยเชื้ออีเอชพีและโรคขี้ขาว เป็นปัญหาสำคัญต่อการเลี้ยงของเกษตรกรตลอดปี โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง พบการเสียหายจากโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรลดความหนาแน่นในการเลี้ยงและทยอยการปล่อยกุ้ง เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรค และดูสถานการณ์ โดยเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง มีการพักบ่อ ทำความสะอาดบ่อและจัดการเคลียร์ระบบการเลี้ยงภายในฟาร์ม เพื่อเตรียมปล่อยกุ้งใหม่ในช่วงต้นปี 65  

     ส่วนนายชัยภัทร  ประเสริฐมรรค กรรมการบริหารสมาคม และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 2564 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนประมาณ 90,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยช่วงต้นปีเกษตรกรลงกุ้งอย่างต่อเนื่อง และพบความเสียหายจากโรคตัวแดงดวงขาว อย่างไรก็ตามการเลี้ยงครึ่งปีแรกให้ผลค่อนข้างดี สามารถทำผลผลิตได้ตามเป้าหมายและมีการลงกุ้งอย่างต่อเนื่อง

     ส่วนครึ่งปีหลังด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนและปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น พบการเสียหายจากโรคอีเอชพี และ ขี้ขาวเพิ่มมากขึ้น  เพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศแปรปรวนและโรคระบาด ทำให้เกษตรกรระมัดระวังมากในการเลี้ยงมากขึ้น โดยลดการความหนาแน่นและทยอยการปล่อยกุ้ง ส่วนช่วงปลายปีเกษตรกรมีการพักบ่อ ทำความสะอาดบ่อและจัดการเคลียร์ระบบการเลี้ยงภายในฟาร์ม เพื่อเตรียมปล่อยกุ้งใหม่ในช่วงต้นปี 65 เช่นกัน  

นางสาวพัชรินทร์   จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 2564 ในพื้นที่ภาคตะวันออกประมาณ 66,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 18 โดยจากสถานการณ์โควิดส่งผลให้แรงงานขาดแคลน เกษตรกรชะลอการเลี้ยงในช่วงต้นปี และพบความเสียหายของโรคตัวแดงดวงขาว โดยเฉพาะ จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด และพบโรคหัวเหลืองในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มากกว่าในปีที่ผ่านมา ส่วนโรคอีเอชพี และ ขี้ขาว เป็นปัญหาสำคัญสำหรับการเลี้ยงของเกษตรกรตลอดปีโดยพบมาในช่วงครึ่งปีหลัง ราคาปัจจัยการผลิต ต้นทุนแฝงจากการเสียหายจากโรค ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เกษตรกรบางส่วนชะลอการลงกุ้ง  ส่วนผลผลิตภาคกลาง ประมาณ 32,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เกษตรกรมีการลงกุ้งอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงต้นปีสภาพอกาศแปรปรวน พบความเสียหายจากโรคหัวเหลืองและตัวแดงดวงขาว 

      ขณะที่นายบรรจง  นิสภวาณิชย์  อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ-ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ  กล่าวว่า การเลี้ยงกุ้งของไทยในปีนี้ เกษตรกรทุกพื้นที่ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาโรคระบาด ทั้งอาการขี้ขาว ตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงและเป็นต้นทุนแฝงกับเกษตรกร ทุกวันนี้อุตสาหกรรมกุ้งเปลี่ยนไปมากจากเดิมที่ไทยเป็นอันดับต้นๆ ในด้านการผลิตกุ้ง เพราะเรามีปัจจัยที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ เรื่องพันธุ์กุ้ง อาหาร และผู้แปรรูปส่งออกที่มีฝีมือ แต่ปัจจุบันสถานการณ์กุ้งเปลี่ยนไปมาก ไทยตกไปอยู่อันดับ หรือ 7 ซึ่งเกิดจากการไม่มีการวางแผนในการนำสินค้ากุ้งไปสร้างตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจัง  ฉะนั้นต้องหันมาร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง  บริษัทอาหาร ปัจจัยการผลิต ผู้ส่งออก และภาครัฐ นำคำว่ากุ้งไทยกลับมาสู้กับตลาดโลก ให้อยู่อันดับต้นๆ ของโลกอีกครั้ง

     นายสมชาย   ฤกษ์โภคี นายกสมาคมกุ้งทะเลไทย และเลขาธิการสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึง การพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย ว่าถึงเวลาที่ทุกคนในซัพพลายเชน หรือห่วงโซ่การผลิต ต้องช่วยกัน แบบเพื่อนช่วยเพื่อน เดินไปด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้ อุตสาหกรรมอยู่รอดปลอดภัย และเติบโตอย่างยั่งยืน ที่สำคัญต้องทำหน้าที่ ให้เต็มที่และดีที่สุดในบทบาทของตน เช่น  ผู้เพาะฟักลูกต้องต้องผลิตลูกกุ้งคุณภาพดีให้กับผู้เลี้ยง  ผู้เลี้ยงต้องผลิตกุ้งให้ได้คุณภาพ ปริมาณที่เพียงพอ  ผู้ผลิตอาหารต้องผลิตอาหารที่ดี มีต้นทุนที่เหมาะสม ห้องเย็นต้องผลิตแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ากุ้งให้ได้มาตรฐานที่ยอมรับ นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องมีส่วนในการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรม ทำงานเชิงรุกร่วมกันอย่างมีเอกภาพและบูรณาการเพื่อให้อุตสาหกรรมมีการพัฒนาไปอย่างยั่งยืน  

      นายเอกพจน์  ยอดพินิจ  อุปนายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวถึง  “แนวทาง – ความร่วมมือรัฐปรับบทบาท เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้ง ว่า 1) ต้องกำหนดเป้าหมายการผลิตกุ้งในประเทศที่ชัดเจน 2) มีรูปแบบแนวทางการเลี้ยงที่เหมาะสมกับเกษตรกรทุกกลุ่ม 3) ปัญหาโรคระบาดได้รับการแก้ไขป้องกันได้เบ็ดเสร็จ 4) เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนภาครัฐและสถาบันการเงิน สนับสนุนดอกเบี้ยพิเศษสำหรับเกษตรกร เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกร มีเงินทุนในการปรับโครงสร้างฟาร์ม และโมเดลการเลี้ยงที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 5) สร้างช่องทางการขายและความได้เปรียบในการแข่งขันและการประชาสัมพันธ์เชิงรุก รวมถึงการเจรจา FTA 6)สร้างระบบมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม และ7) นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

      ส่วน ความร่วมมือนั้นเกษตรกรต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ด้านการเลี้ยง สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้น และที่สำคัญ ภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลง/ปรับบทบาท (Transform) จากการสนับสนุนและบริการซึ่งทำดีมาก และต้องทำต่อไป มาร่วมกันพัฒนาและฟื้นฟูอุตสาหกรรมอย่างจริงจังมากขึ้น ที่กล่าวเช่นนี้ ด้วย 30 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนพยายามอย่างเต็มที่ในการนำพา/พัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศ เพื่ออุตสาหกรรมที่มีมูลค่ากว่าแสนล้าน จนไม่เหลืออะไรให้เล่นแล้ว (เทหมดหน้าตัก) ถึงวันนี้ภาครัฐต้อง มามีส่วนในความรับผิดชอบ (ลงทุน) ในการพัฒนาฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยร่วมกับเอกชนในเรื่องเทคโนโลยีเรื่องการเลี้ยง ฯลฯ (ต้องลงมาช่วยอุตสาหกรรมมากขึ้น)  

     ดร.สมศักดิ์   ปณีตัธยาศัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ภูมิใจในอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทย ในเรื่องภาพลักษณ์ เรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยอาหาร และปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ทั้งเป็นแหล่งผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก อาหารกุ้งที่มีประสิทธิภาพ การมีเกษตรกรผู้เพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่มีทักษะประสบการณ์ มีผู้ประกอบการห้องเย็นแปรรูปกุ้งที่มีความสามารถ  แต่ปัจจุบันสถานภาพการผลิตกุ้งของไทยไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะเชิงปริมาณ แม้ไทยไม่ได้เป็นที่หนึ่ง แต่ในเชิงคุณภาพ ไม่เป็นที่สองรองใคร

     อย่างไรก็ตาม เพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งของไทย สามารถอยู่รอดได้ มีความยั่งยืนได้ สมาคมกุ้งไทย ขอเสนอ ให้ทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิต จำเป็นต้องผนึกกำลังร่วมด้วยช่วยกัน การส่งเสริมสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมเต็มกำลังจากภาครัฐ ที่สำคัญ คือ  

 1. ทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตกุ้งของไทย สามารถควบคุม ได้ดี  ได้ถูก – มีความสามารถในการแข่งขันฯ  ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยง (จะเลี้ยงแบบตามมีตามเกิดไม่ได้/แบบเดิมๆไม่ได้แล้ว) ที่สำคัญต้องหาทาง/วิธีตัดต้นทุนแฝงคือความเสียหายจากโรคกุ้งที่ยังรุนแรงอยู่ให้ได้  

  2. รัฐต้องตั้งเป้าหมาย โดยต้องมีธงที่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะเดินไปทางไหน อย่างไร เช่น สินค้าคุณภาพและมูลค่าสูง มีอะไรที่แตกต่างจากคู่แข่ง และเป้าหมายผลผลิตที่มั่นคง เช่น 4 แสนตัน เมื่อไร ส่งออกจะเท่าไร  เป็นต้น  ที่สำคัญรัฐต้องมีการส่งเสริมสนับสนุน แผนดำเนินการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม สามารถทำได้จริง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่างๆดังกล่าว  

  3.วางแผนและพัฒนาการผลิตกุ้ง ให้ได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ให้เพียงพอกับการส่งออกและบริโภคภายในปท. (เลี่ยง/ไม่จำเป็นต้องนำเข้า) ที่สำคัญให้มีความสามารถในการแข่งขันเบื้องต้นอาจไปศึกษา อินเดีย เอกวาดอร์ เวียดนาม ว่าผลิตกุ้งส่งออกไซส์ไหน  เราจะหลีกเลี่ยงผลิตกุ้งไซส์นั้นๆ ก่อน  

  4.ต้องมาส่งเสริมพัฒนาการผลิตและแปรรูปกุ้งกุลาดำ  โดยจัดกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมสำหรับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และพื้นที่ที่เหมาะสมกับกุ้งกุลาดำ  ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญต้องมีการส่งเสริม สร้างตลาดเพิ่มขึ้น  เพื่อรองรับผลผลิตกุ้งที่จะเพิ่มขึ้น ฯลฯ  

   5. การพัฒนาการเลี้ยง ต้องมีรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงจากโรค โดยรัฐสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี รวมทั้งมีผู้สนับสนุนการพัฒนาที่ถูกต้องและร่วมรับผิดชอบด้วย   เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจะได้นำไปลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตเพื่อความยั่งยืน ฯ  

   6. เรื่องต้นทุนวัตถุดิบผลิตอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีก  ภาครัฐจะมีแผนสนับสนุนอย่างไรให้เกิดประโยชน์ทั้งเกษตรกรและวัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศ