Kick off จ่ายประกันรายได้ให้ชาวสวนยาง เฟส 3 ล็อตแรก 1.4 พันล้านบาท

  •  
  •  
  •  
  •  

Kick off เริ่มจ่ายเงินโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง เฟส 3 ล็อตแรกควบ 2 งวด  9 ธันวาคม 2564 ให้ชาวสวนยางกว่า 1.8 ล้านรายทั่วประเทศวงเงินกว่า 1.4 พันล้านบาท  จากงบประมาณทั้งสิ้น 10,065 ล้านบาท งวดสุดท้ายเดือนมีนาคม 2565  

       นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)กล่าวว่า ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 วงเงินรวมงบประมาณเพื่อจ่ายส่วนต่างประกันรายได้ยาง ทั้ง 3 ชนิด ทั้งสิ้นประมาณ10,065ล้านบาท สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.ซึ่งจะได้รับการชดเชยส่วนต่างตามรูปแบบผลผลิตที่เกษตรกรขาย

      ทั้งนี้ได้กำหนดราคาประกันรายได้ 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม มีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 6 เดือน  ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564- เดือนมีนาคม 2565 รายละไม่เกิน 25 ไร่เริ่มจ่ายพร้อมกัน 2 งวด (ตุลาคมและพฤศจิกายน 2564) ในวันนี้ (9 ธ.ค.64) รวมเป็นเงินประมาณ 1,400ล้านบาท

     หลังจากนั้นจะจ่ายเดือนละครั้งจนถึงเดือนเมษายน 2565โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ของเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. เดือนละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลสวนยางไว้กับ กยท. สามารถตรวจสอบสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3  ได้ที่ลิงค์  http://www.raot.co.th/gir/index/

      สำหรับโครงการประกันรายได้ฯ เป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐบาลเพื่อดูแลพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางโดยสาเหตุที่เร่งดำเนินการมาตรการดังกล่าวในช่วงนี้ และจ่ายเงินประกันรายได้พร้อมกัน 2 งวด เพื่อรองรับราคายางในช่วงปลายปีของทุกปีที่อาจปรับตัวลงบ้าง เนื่องจากโรงงานหลายแห่งชะลอการผลิต ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ในขณะที่ผลผลิตน้ำยางสดยังออกมาต่อเนื่องและมีอายุจัดเก็บค่อนข้างสั้นต่างจากยางแผ่นดิบและยางก้อนถ้วยที่จะได้รับผลกระทบไม่มากนัก

     นอกจากนี้ กยท.ได้ดำเนินโครงการอื่นคู่ขนานเพื่อรองรับสถานการณ์ได้แก่ โครงการชะลอการขายยาง ซึ่งเริ่มดำเนินการรับซื้อน้ำยางจากสถาบันเกษตรกรแล้วในพื้นที่ภาคใต้ สามารถช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรชาวสวนยางไม่ต้องเร่งระบายผลผลิตยาง และสามารถเก็บผลผลิตยางไว้ขายในช่วงที่ราคายางสูงขึ้นอยู่ในระดับที่เหมาะสม