งัด 7 กลยุทธ์เชิงรุกสู่ศักยภาพใหม่ยางพาราไทย เน้นแปรรูปแทนส่งออหกน้ำยางข้น

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯเร่งเดินหน้า “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” หวังรั้งครองแชมป์โลกยางพารา ล่าสุดวางกรอบ 7 กลยุทธ์เชิงรุกสู่ศักยภาพใหม่วงการยางพาราไทย หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แทนการส่งออกน้ำยางข้น เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร 

        นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินนโยบายบริหารจัดการยางพาราสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกยางจำนวน 1.83 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 24.76 ล้านไร่

       อย่างไรก็ตาม ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ได้เน้นการขับเคลื่อนนโยบายตลาดเชิงรุกโดยการให้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ทูตเกษตรประจำอยู่ต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) ร่วมกับทูตพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ตามโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตได้ผนึกกำลังกันส่งเสริมการตลาดยางพาราในประเทศคู่ค้าสำคัญๆ 

       ล่าสุดได้วางระบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ด้วย 7 กลยุทธ์สู่ศักยภาพใหม่ยางพาราไทยได้แก่ 1.การยกระดับมาตรฐานGAP FSC GMP 2.การประกันรายได้ชาวสวนยาง การนำระบบการประมูลออนไลน์และตลาดกลางซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริงมาเป็นกลไกใหม่ๆ 3.การยกระดับด้วย AIC และ กยท.ด้วยการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี นวัตกรรมสู่การผลิตที่ดีมีมาตรฐานมี Productivity สูงและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง 4. กยท.และบริษัทของไทย เช่น ศรีตรัง ต้องยกระดับอัพเกรดองค์กรและการบริหารจัดการทะยานสู่ Global Player

       5.การพัฒนาวิสาหกิจยางพาราสู่SMEเกษตร 6.ส่งเสริมเชิงรุกอุตสาหกรรมน้ำยางข้นทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคสถาบันเกษตรกร เช่น โครงการ Rubber Valley Rubber City SEC EEC และ 7.สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง 4 แกนหลัก ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกรและภาควิชาการ (ไม่ใช่ภาครัฐและภาคเอกชนเท่านั้นเหมือนในอดีต) แบบทวิภาคีและพหุภาคี แบบคู่ค้าและคู่ขา ไม่ใช่คู่แข่ง โมเดล Win-Win

      “เรากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆตอบสนองตลาดยุคโควิดแทนการส่งออกน้ำยางข้นเพื่อสร้างรายได้เพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะชาวสวนยาง 1.83 ล้านรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่องบนฐานการเป็นประเทศผู้ส่งออกยางอันดับ1ของโลก” นายอลงกรณ์ กล่าว

        ในส่วนของการดำเนินการเร่งดำเนินการจัดตั้ง ตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริงของยางพารา โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.พร้อมกันนั้นก็เร่งส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยส่งเสริมการลงทุนโรงงานผลิตถุงมือยาง รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆด้วย

       นอกจากนี้ปัจจุบันได้ริเริ่มโครงการใหม่ๆ อาทื โครงการ Rubber Valley ซึ่งเป็นโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ของรัฐบาลสู่การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ครอบคลุมทั้งกิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราทั้งระบบ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผลผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 4.4 ล้านตัน หรือ 38.2% รองลงมา ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน มาเลเซีย และอินเดีย ซึ่งเอเซียผลิตมากที่สุดในโลก