“สยามคูโบต้า” ประกาศจุดยืนบนเส้นทางธุรกิจ ก้าวเข้าสู่ “The Most Trusted Brand” ในอาเซียน สอดรับเทรนด์โลก ในปี 2030 ตามนโยบายของคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ที่เน้นกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ชั้นนำระดับโลก “GMB” ให้เกิดขึ้นจริง และยังคงจุดยืนการเป็น “นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต” เพื่อตอกย้ำจุดยืนการเป็นผู้นำตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรที่พร้อมอยู่เคียงข้างและร่วมก้าวผ่านในทุกสถานการณ์ไปกับเกษตรกร มั่นใจ GDP ภาคเกษตรไทยครึ่งปีหลังโต 2-3% ล่าสุดเตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่ “รถดำนาเดินตาม 4 แถว-โดรนเพื่อการเกษตร-โรงเรือนอัจฉริยะ -รถปลูกผัก” เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุมทุกขั้นตอนทำการเกษตร
นายทาคาโนบุ อะซึมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า สยามคูโบต้า ยังคงให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรในรูปแบบต่างๆ ผสานกับการสร้างประสบการณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยแก่เกษตรกรไทย เพื่อคงจุดยืนการเป็น “นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต” โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการในการทำการเกษตรด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร และโซลูชั่น ให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงจากความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ ตลอดจนสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต นำไปสู่การสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทาคาโนบุ อะซึมะ
พร้อมทั้งมีเป้าหมายในการยกระดับภาคเกษตรกรรมของอาเซียนให้มั่นคงมีการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชากรทั่วโลกมีความมั่นคงทางอาหารในการบริโภคจากผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัย สอดรับเทรนด์โลก ในปี 2030 ตามนโยบายของคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ที่วางแนวทางดำเนินธุรกิจโดยการพัฒนาสินค้าเพื่อสานต่อความยั่งยืนทั้งด้านอาหาร น้ำ และสิ่งแวดล้อม โดยมีกลยุทธ์มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ชั้นนำระดับโลก GMB (Global Major Brand) ให้เกิดขึ้นจริง พร้อมเป็น The Most Trusted Brand ของเกษตรกรทั่วโลก
นายอะซึมะ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรไทยนั้น ทำให้เกิดแรงงานคืนถิ่นกลับสู่ภาคเกษตรมากขึ้นกว่า 1.6 ล้านคน ส่งผลให้เกิดความต้องการการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงแรกนั้นสินค้าทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากการส่งออก เนื่องจากความต้องการของต่างประเทศที่ลดลงจากเศรษฐกิจหดตัว รวมไปถึงปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าว และมันสำปะหลัง
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มกลับมาอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้สถานการณ์ส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น ทางบริษัทฯ จึงมองว่าภาพรวมสถานการณ์ธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรในครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่ดี คาดการณ์ GDP ภาคเกษตรของไทยเติบโต 2-3% และ GDP ภาคเกษตรของกัมพูชาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ 6%
โดรนเพื่อการเกษตรของคูโบต้า
ส่วนทางด้านการจัดส่งสินค้าให้ทันกับความต้องการ ยังเป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างมาก ด้วยการผลิตของ supplier ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะโรคระบาดทำให้เกิดการหยุดผลิตเป็นบางช่วง ซึ่งมองว่า สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้นจากการใช้มาตรการ Bubble & Seal และการเร่งจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานของบริษัทฯ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนการเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงครึ่งปีหลังมากขึ้น เพื่อให้พร้อมส่งมอบสินค้าให้ทันกับความต้องการของตลาด
ในด้านการให้บริการลูกค้า บริษัทฯ ยังรักษาระดับการให้บริการลูกค้าให้มีความพึงพอใจสูงสุด โดยดูแลเรื่องความสะอาดปลอดภัยพร้อมเคร่งครัดต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 ในการเข้าไปปฏิบัติงานของผู้ให้บริการ และยังมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและเครื่องมือใหม่ๆ มาปรับใช้ในองค์กร เข้าสู่ยุค Digital Transformation รวมถึงกระตุ้นให้พนักงานเกิดการเรียนรู้ที่จะพัฒนาทักษะแบบไม่หยุดนิ่ง เพิ่มขีดความสามารถในการทำงานแบบ New Normal ได้เต็มประสิทธิภาพ
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังได้เตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่ อาทิ รถดำนาเดินตาม 4 แถว โดรนเพื่อการเกษตร โรงเรือนอัจฉริยะ (Greenhouse) และรถปลูกผัก (Vegetable Planter) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุมทุกขั้นตอนทำการเกษตร โดยนำนวัตกรรมและองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งจากคูโบต้า ประเทศญี่ปุ่น และการศึกษาวิจัยของทีมผู้เชี่ยวชาญของบริษัทฯ เข้ามาพัฒนาประยุกต์ใช้กับภาคการเกษตรของไทย
วราภรณ์ โอสถาพันธุ์
ทางด้านนางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรในภาพรวมของบริษัทตั้งแต่ปี 2561 – 2563 ที่ผ่านมาพบว่า เครื่องจักรกลการเกษตรที่เป็นยอดขายหลักของบริษัท ได้แก่ แทรกเตอร์และรถเกี่ยวนวดข้าวมียอดขายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ลูกค้าเก่าของบริษัทฯ มีการซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรเพิ่มขึ้นกว่า 30% เนื่องจากมีการขยายพื้นที่การเพาะปลูก อีกทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรโดยรวมมีทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจเข้ามาทำการเกษตรมากขึ้น ส่วนแนวโน้มการใช้งานของลูกค้าปัจจุบันบางส่วนที่มีการหันมาใช้สื่อออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียและดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านการเกษตร แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของกลุ่มเกษตรกรที่เป็น Smart Farmer
สำหรับภาคการเกษตรในปี 2564 บริษัทฯ คาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวโดยมาจากปัจจัยบวกเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตรมากขึ้น โดยคาดว่า จะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก และไม่ประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์พายุฤดูฝนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด รวมถึงความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสินค้าเกษตรและปริมาณผลผลิตภายในประเทศ
กระนั้นก็ตาม ในครึ่งปีหลังน่าจะมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น โดยมีปัจจัยบวกที่ทำให้ภาคการเกษตรของไทยกลับมาดีขึ้น เกิดจากการมีแรงงานกลับสู่ภาคเกษตร ด้านการส่งออก ตลาดมีความต้องการสินค้าเกษตรก็เพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจของโลก รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง นอกจากนี้ ยังมีความต้องการของพืชมูลค่าสูงใหม่ ๆ เช่น สมุนไพรและผลไม้ สินค้าเกษตรปลอดภัยเกษตรอินทรีย์
ขณะเดียวกันด้านนวัตกรรมการเกษตร มีแนวโน้มการใช้เทคโนโลยี IOT และนวัตกรรมมาใช้ในภาคการเกษตร แบบ Smart Farming เพื่อยกระดับการพัฒนาเกษตรกรรมใน 4 ด้าน ได้แก่ ลดต้นทุุนในกระบวนการผลิต เพิ่มผลผลิต คุณภาพสินค้าและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ลดความเสี่ยงในภาคเกษตรที่เกิดจากการระบาดของศัตรููพืชและจากภัยธรรมชาติ และจัดการส่งผ่านความรู้โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
แฟ้มวีดีโอ : คูโบต้าฟาร์ม
ทั้งนี้เกษตรกรสามารถเรียนรู้โซลูชั่นนวัตกรรมเกษตรต่างๆ ด้วยตนเองได้ที่คูโบต้าฟาร์ม ซึ่งต่อยอดแนวคิด KUBOTA (Agri) Solutions หรือ KAS เกษตรครบวงจร สู่การพัฒนาเป็น Innovative Farming Experience Center ที่สร้างประสบการณ์การเกษตรสมัยใหม่ของคูโบต้าในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงสนับสนุนการใช้ Smart Farming Platform เพิ่มการเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร ผ่านการเช่าหรือแชร์การใช้งานเครื่องจักรฯ เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ครัวเรือนมากขึ้น
นางวราภรณ์ กล่าวถึงการช่วยเหลือสังคมและภาคประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาด้วยว่า บริษัทฯ ได้จัดตั้งโครงการ KUBOTA On Your Side ขึ้น ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในช่วงแรก เพื่อให้ความช่วยเหลือและส่งกำลังใจให้คนไทยทั่วประเทศ มูลค่ารวมกว่า 15 ล้านบาท ผ่านการช่วยเหลือใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ผลิตและซ่อมแซมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องช่วยหายใจ ตู้ความดันลบ หุ่นยนต์รับส่งยาและอาหาร บริจาคเงินจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องทางการแพทย์ที่จำเป็นในกิจกรรม “ส่งต่อลมหายใจ”
การช่วยเหลือเยียวยาลูกค้าของสยามคูโบต้า ทางบริษัทมีมาตรการพักชำระค่างวดแก่เกษตรกร โดยสยามคูโบต้าลิสซิ่ง ด้านการช่วยเหลือภาคประชาชน โดยเฉพาะแรงงานที่ได้รับผลกระทบ บริษัทฯ ได้จัดหลักสูตออนไลน์ KUBOTA Agri e-Learning เรียนรู้ด้านเกษตรและขับเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อนำไปรับจ้างงานสร้างรายได้ นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรม “ฟาร์มส่งสุข” สนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรจาก 5 กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนภายใต้ “โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า” ส่งมอบเพื่อเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารให้แก่โรงพยาบาล และศูนย์ฉีดวัคซีนกทม. อีกทั้งในช่วงนี้ยังได้จัดแคมเปญ คูโบต้าเคียงข้างสร้างอนาคต อาทิ การบริจาคเวชภัณฑ์และสิ่งของจำเป็น พร้อมช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในทุกมิติของสังคมไทยเพื่อสู้ไปด้วยกันอีกด้วย