ซีพีเอฟ ชวนเกษตรกรปลูกข้าวโพดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่รุกป่า ปลอดเผา

  •  
  •  
  •  
  •  
ซีพีเอฟ ร่วมมือกับ กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ในเครือซีพี หรือ (เอฟไอที) ชวนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยั่งยืน ปลูกแบบใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมลงทะเบียนการเพาะปลูกในระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งปลูกข้าวโพด เพื่อร่วมแสดงความมุ่งมั่นปลูกพืชด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ลดฝุ่นละออง
    นายไพศาล เครือวงศ์วานิช รองประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ในเครือซีพี (เอฟไอที) ผู้จัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรให้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในการจัดซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทางกลุ่มฯได้ดำเนินการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามนโยบายการจัดหายั่งยืนของซีพีเอฟ ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยสร้างความร่วมมือกับเกษตรกร ในการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิตได้ 100% สามารถระบุได้ว่ามาจากแหล่งปลูกมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า และปลอดการเผา 
    ทั้งนี้ ในฤดูกาลปลูกปี 2564 นี้ ขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้ปลูกลงทะเบียนการปลูกในระบบตรวจสอบย้อนกลับผ่านทางเว็บไซต์ https://traceability.fit-cpgroup.com/ หรือผู้รวบรวมในพื้นที่ เพื่อช่วยเกษตรกรมั่นใจเรื่องช่องทางการตลาดในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และส่งเสริมการผลิตข้าวโพดที่มาจากแหล่งปลูกไม่บุกรุกพื้นที่ป่า และปลอดการเผา
     “การลงทะเบียนการปลูกในระบบการตรวจสอบย้อนกลับของ กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ในเครือซีพี หรือ เอฟไอที จะช่วยให้เกษตรกรมั่นใจเรื่องการมีตลาดรับซื้อผลผลิตในช่วงเก็บเกี่ยวที่แน่นอน ช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ปลูกจำหน่ายผลผลิตในราคารับซื้อที่โปร่งใส มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรใส่ใจในกระบวนการปลูกและเก็บเกี่ยวที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับห่วงโซ่การจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์” นายไพศาลกล่าว
     ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มธุรกิจฯยังเดินหน้าโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 โดยในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 บริษัทฯ เน้นการถ่ายทอดความรู้ผ่านระบบออนไลน์  เพื่อช่วยสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกมีความรู้ความเข้าใจวิธีการเพาะปลูกที่ดี
     
     รวมทั้งมีข้อมูลที่ช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลการผลิต และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ได้แก่ ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ การวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน วิธีการเตรียมดิน ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว ตลอดจนส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีการปลูกที่ทันสมัย ขณะเดียวกันยัง รณรงค์เชิงรุกเรื่องการเพาะปลูกแบบไม่เผาตอซังอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
    นายไพศาล  กล่าวอีกว่า จากการให้ความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ปลูกมาอย่างต่อเนื่อง มีส่วนสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตข้าวโพดที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น  และสามารถนำผลผลิตมาจำหน่ายตรงได้ที่โรงงานอาหารสัตว์ หรือจุดรับซื้อของกลุ่มธุรกิจ เอฟไอที ที่กำหนดราคารับซื้อตามมาตรฐานของกระทรวงพานิชย์  

     นอกจากนี้ ทางกลุ่มธุรกิจฯยังทำงานร่วมกับพี่น้องเกษตรกรที่ร่วมโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน”  ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอุทัยธานี พัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบปลูกข้าวโพดยกเลิกการเผาหลังเก็บเกี่ยวให้เป็นศูนย์ โดยอาศัยเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ตรวจจับการเผาแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหารของซีพีเอฟและคู่ค้าทางธุรกิจเช่นกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ในเครือซีพี ปลอดการรุกป่า และการเผา ร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม