ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคปี 65 เตรียมดัน 3 เรื่อง ” ความมั่นคงด้านอาหาร-เกษตรยั่งยืน-โยบาย 3S ภาคเกษตร “

  •  
  •  
  •  
  •  

ไทยลงมติเห็นชอบ 2 เรื่องในที่ประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค 2564 เรื่องร่างแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 6 และแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 พร้อมเป็นเจ้าภาพในปี 2565 เตรียมผลักดันการขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบาย 3S ภาคเกษตร และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วย BCG Model และการปรับเปลี่ยนระบบอาหารทั้งระบบ ตามแนวคิด UN

    ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค 2564 “Food Security Roadmap Towards 2030″

                                                          เฉลิมชัย ศรีอ่อน

    การประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงทางอาหารเอเปค ในปี 2564 ในครั้งนี้ ประเทศไทยเห็นชอบทั้ง 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ร่างแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 6 ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงอาหารของไทย และ BCG โมเดล (หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียวในภาคเกษตร) ,และ 2.แผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 โดยมีสาระสำคัญ 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1) เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม 2) ผลิตภาพ 3) ความครอบคลุม 4) ความยั่งยืน 5) ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน และ 6) การกำหนดเป้าหมายที่ชาญฉลาดในการดำเนินการตามแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030

   นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคความมั่นคงอาหาร ในปี 2565 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพในปีหน้า จะมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากการจัดการประชุมดังกล่าว อาทิ  การจัดทำปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหาร เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการผลักดันการขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืนในเอเปค, และการจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030

    ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ จะผลักดันการขับเคลื่อนนโยบาย 3S (Safety Security Sustainability) ของภาคเกษตรเพื่อส่งเสริมระบบอาหารให้มีความยั่งยืน ผลักดันเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงการพัฒนาฐานข้อมูลด้วยระบบ Big Data ด้านดิน น้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาดของพืชและสัตว์ เป็นต้น รวมถึงผลักดันการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัล โดยยึดหลักความสอดคล้องกับการขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วย BCG Model รวมถึงแนวคิดของ UN ในการปรับเปลี่ยนระบบอาหารทั้งระบบ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงอาหารและโภชนาการของโลก (2021 UN Food System Summit)