“จุรินทร์-เฉลิมชัย” สุดปลื้ม แก้ปัญหามังคุดใต้บรรลุเป้า ทำราคาพุ่งเกรดคุณภาพแตะ กก.50 บาท

  •  
  •  
  •  
  •  

“จุรินทร์-เฉลิมชัย” สุดปลื้ม แผนบริหารจัดการผลไม้ประจำปีการผลิต 2564 บรรลุเป้า สามารถระบายมังคุดออกจากแหล่งผลิตได้แล้วกว่า 2 หมื่นตัน ดันราคาเกินเป้า ล่าสสั่ง “ฟรุ้ทบอร์ด” เดินหน้าช่วย “ลำไย-เงาะ-ลองกอง” ต่อเนื่องจนสิ้นฤดูกาลผลิตลำไยเหนือผลไม้ใต้ปี 64

    นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ว่า ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ หรือฟรุ๊ตบอร์ด (Fruit Board) ได้ผลักดันนโยบายยกระดับราคาผลไม้ฤดูกาลผลิตปี 2564 ด้วยการการขับเคลื่อนของฟรุ๊ตบอร์ด ออกมาตรการเชิงรุกทุกแพลตฟอร์มตามแผนบริหารจัดการผลไม้ประจำปีการผลิต 2564 รวมทั้งการปรับกลยุทธ์ใหม่เน้นการบริโภคภายในประเทศทดแทนการส่งออกสามารถดึงมังคุดออกจากแหล่งผลิตได้กว่า 20,000 ตัน ทำให้มังคุดเกรดคละราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 13-15 บาท และมังคุดเกรดคุณภาพ ราคาใกล้แตะที่กิโลกรัมละ 50 บาท

    ตามรายงานล่าสุดของกรมการค้าภายใน แม้จะเป็นช่วงพีคที่มีผลผลิตมังคุดออกมามากที่สุดถึง 60,000 ตัน ภายในเดือนสิงหาคมจากยอดรวมผลผลิตมังคุดภาคใต้รวมทั้งฤดูกาล 1.5 แสนตัน แต่ก็สามารถยกระดับราคาได้เกินเป้าหมายจากมาตรการหลักมาตรการเสริมใหม่ๆ และการแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน ยกตัวอย่างกรณีจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นฮับมังคุดภาคใต้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม มีเพียง 46 ล้ง แต่เมื่อมีการแก้ปัญหาและผ่อนปรนมาตรการอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันมีล้งเพิ่มเป็นกว่า 200 ราย และแผงรับซื้อผลไม้กว่า 400 แผงที่เข้าไปรับซื้อในพื้นที่และการกลับมาเปิดบริการของบริษัทขนส่ง เช่นไปรษณีย์ไทย เคอรี่ส่งผลให้กลไกและระบบการค้าฟื้นกลับมา

     นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ล่าสุด รมว.เกษตรฯ ในฐานะประธาน Fruit Board และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้สั่งการให้ฟรุ้ทบอร์ดเร่งช่วยเหลือชาวสวนลำไย และเงาะที่มีราคาลดลงในช่วงกลางฤดูผลิตและลองกองอีกกว่า 4 หมื่นตันที่กำลังจะออกมาเป็นการล่วงหน้าโดยด่วน พร้อมกันนี้ยังได้ขอบคุณและเชิญชวนทุกภาคส่วนช่วยกันสนับสนุนซื้อผลไม้ไทยเพื่อช่วยชาวสวนให้ได้ราคาที่เป็นธรรมมีรายได้เพิ่มขึ้นจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูกาลผลไม้ปี 2564

       นอกจากนี้ รมง,เกษตรฯ ยังมอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลไม้และระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) รวมทั้งมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 (COVID Free) ตามยุทธศาสตร์เกษตรปลอดภัยและให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจภายใต้ฟรุ้ทบอร์ดจัดทำแผนปฏิรูปการบริหารจัดการผลไม้เชิงโครงสร้างทั้งระบบ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวภายใน 90 วันด้วย

       ทั้งนี้ จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ในเดือนมิถุนายนปีนี้ การส่งออกผลไม้เพิ่มขึ้น 185% และมังคุดส่งออกขยายตัวกว่า 400% แต่พอถึงเดือนกรกฎาคมเกิดการการแพร่ระบาดของโควิด19 ภายในประเทศที่รุนแรงมากขึ้นทำให้มีการออกมาตรการล็อคดาวน์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของผลไม้ไทย รวมทั้งเวียดนามและลาวที่เป็นเส้นทางการขนส่งได้ยกระดับมาตรการป้องกันโควิด19 เข้มข้นมากขึ้น ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์หมุนกลับมาไม่ทันล้งเคลื่อนย้ายไปภาคใต้ได้น้อยลง ส่งผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์ กลไกการค้าและราคาผลไม้ในขณะนี้

       แต่กระนั้นทางด้านกระทรวงพาณิชย์ทำงานเชิงรุกตลอดเวลาเช่นกัน ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  ได้เร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ด้วยโครงการจับคู่ธุรกิจเพื่อเจรจาการค้าผ่านระบบออนไลน์ในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งผู้เข้าร่วมเจรจาธุรกิจเป็นผู้ส่งออกไทยจำนวน 123 บริษัท และมีผู้ซื้อ ผู้นำเข้าสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 74 ราย เกิดการจับคู่ธุรกิจได้จำนวน 123 คู่ ก็เป็นอีกมาตรการเพื่อขยายตลาดส่งออกโดยเฉพาะผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้ของไทยได้