สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์ (26-30 ก.ค.64)ข้าวโพดราคาลดลง ข้าวทรงตัว ปลาป่นขึ้น

  •  
  •  
  •  
  •  
สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์วันที่ 26-30 กรกฎาคม 2564
ข้าวโพด : ราคาลดลง
    สัปดาห์นี้ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ ปรับตัวอ่อนลง จากหาบละ 642 บาท เป็นหาบละ 633 บาท เนื่องจากเริ่มมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาด  
     ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนกันยายน 2564 ราคาอยู่ที่ 549.25 เซนต์/บุชเชล  
     กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานคุณภาพข้าวโพดว่าอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก (Good to excellent condition) ปรับลดลงอยู่ที่ 64% แต่คาดการณ์อุณหภูมิที่จะลดต่ำลงในสัปดาห์หน้า จะช่วยบรรเทาความแห้งแล้งในพื้นที่เพาะปลูกได้
     ขณะที่ตลาดได้ติดตามการประกาศรายงานคาดการณ์อุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรโลก (WASDE) ที่จะประกาศในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งจะมีการปรับผลผลิตต่อไร่ (yield potential) ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณข้าวโพดของสหรัฐฯ ในฤดูกาล 2564/65
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะยืนแข็ง
ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว
     กากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 18.60 บาท สภาพอากาศที่ดีในสหรัฐฯ ส่งผลให้คาดการณ์ผลผลิตถั่วเหลืองฤดูกาลใหม่ยังคงดีต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณซื้อในตลาดทรงตัว ส่งผลให้แนวโน้มราคาอาจปรับตัวลงได้ ด้านค่าระวางเรือทั่วโลกยังคงสูง ประกอบกับปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนที่ไม่กระเตื้องขึ้น ส่งผลให้ราคาค่าขนส่งยังคงสูงทรงตัว
     ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนสิงหาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 1,432.00 เซนต์/บุชเชล และกากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนสิงหาคม 2564  ราคาอยู่ที่ 356.10 เหรียญสหรัฐฯ/ช็อตตัน
     กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานคุณภาพถั่วเหลืองอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอยู่ที่ 58%  นอกจากนี้เดือนสิงหาคมจะเป็นช่วงสำคัญที่ผลผลิตถั่วเหลืองมีความอ่อนไหวต่อสภาพอากาศ โดยปัจจุบันยังมีความแห้งแล้งโดยรอบพื้นที่แถบตะวันตก ซึ่งอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตได้
แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะทรงตัว
ปลาป่น : ราคาเพิ่มขึ้น
     ขณะนี้การจับปลาของประเทศเปรูใกล้จบฤดูกาลแรกของปีนี้แล้ว โดยสามารถจับปลาได้ 97% ของโควต้า ขณะที่การส่งออกยังมีปัญหาในการหาตู้คอนเทนเนอร์และสายการเดินเรือ ด้านสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ซื้อหลัก ยังมีการซื้อหน้าท่าเรือในปริมาณที่ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปลาป่นโดยรวมปรับขึ้น 1.50 บาท ยกเว้นเกรดกุ้งที่ทรงตัว
     โดยปลาป่นเกรดกุ้ง ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 48.00 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 39.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 41.20 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 37.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 38.70 บาท ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 36.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 38.20 บาท
      ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 34.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 35.70 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะทรงตัว
ข้าว : ราคาทรงตัว
     สัปดาห์นี้ ราคาซื้อขายข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาตันละ 418 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาตันละ 375 เหรียญสหรัฐฯ
    ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคากระสอบละ 1,230 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคากระสอบละ 1,090 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะทรงตัว
สุกร : ราคาทรงตัว
     สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม ณ วันพระที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 68-78 บาท โดยกลุ่มผู้เลี้ยง และสมาคมภูมิภาคต่างๆ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีมติเห็นควรให้ยืนราคาสุกรขุนต่อไปอีก 2-3 วันพระ หากภาวะการระบาดของโรคโควิด19 ทรงตัว  
      ส่วนลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,400 บาท (บวก/ลบ 68)
แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะทรงตัว
ไก่เนื้อ : ราคาลดลง
     สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ประกาศราคาแนะนำไก่เนื้อหน้าฟาร์ม ที่ราคากิโลกรัมละ 30 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 33 บาท เนื่องจากมีการปิดโรงชำแหละหลายแห่ง ส่งผลให้ไก่มีชีวิตตกค้างในฟาร์มเป็นจำนวนมาก
     ด้านลูกไก่เนื้อ ราคาตัวละ 8.50 บาท และลูกไก่ไข่ ราคาตัวละ 28.00 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะยืนอ่อน
ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว
      จากมาตรการของภาครัฐที่เพิ่มความเข้มงวดให้ทำงานที่บ้านให้มากที่สุด รวมทั้งมาตรการงดรับประทานอาหารที่ร้าน ส่งผลให้ขณะนี้ความต้องการบริโภคไข่ไก่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการขนส่งถูกจำกัดเวลา ทำให้บางพื้นที่ไข่ไก่มีจำนวนจำกัด
     อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ยังคงตรึงราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ที่ฟองละ 3.00 บาท

แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะยืนแข็ง

ที่มา: สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF