ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนกรกฎาคม2564 พืชเศรษฐกิจหลักหลายรายการแนวโน้มดีขึ้น

  •  
  •  
  •  
  •  

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้มาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และความต้องการของตลาดโลก ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนกรกฎาคม2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง และสุกร มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกหอมมะลิน้ำตาลทรายดิบ ปาล์มน้ำมัน กุ้งขาวแวนนาไม และโคเนื้อ มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

  นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส.คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนกรกฎาคม2564 โดยมีสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่

    ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15%ราคาอยู่ที่8,623-8,834 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.25-3.73 เนื่องจากคาดว่าความต้องการข้าวของผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลกจะกลับมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีแนวโน้มเผชิญกับพายุหลายลูกในช่วงฤดูฝนจนถึงเดือนกันยายน 2564 ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวมีปริมาณน้อยลง และประเทศอินโดนีเซียที่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจซื้อข้าวระหว่างรัฐบาลไทย ซึ่งจะทยอยส่งมอบข้าวจำนวนมากตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564เป็นต้นไป

    ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวราคาอยู่ที่ 10,494-10,601 บาท/ตันเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.38-1.41 เนื่องจากความต้องการใช้ข้าวเหนียวเพิ่มขึ้นในเทศกาลวันเข้าพรรษา

     ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5%ราคาอยู่ที่ 8.11-8.17 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.30-1.00 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย คาดว่าในเดือนนี้จะมีผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ร้อยละ 1.30 ของผลผลิตทั้งหมด ขณะที่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์มีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวของ
การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ประกอบกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นๆ อาทิ ถั่วเหลือง ปรับตัวสูงขึ้นตามคำสั่งซื้อของประเทศจีน

     ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3ราคาอยู่ที่ 56.45-57.45 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.02-1.79 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณยางพาราที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดเดือนกรกฎาคม 2564 จำนวน 0.436 ล้านตัน ลดลงจากเดือนก่อน (0.440 ล้านตัน) ประกอบกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers Index : PMI) ของประเทศคู่ค้าสำคัญอยู่เหนือระดับ 50 ได้แก่ สหรัฐฯ (62.1) จีน (51.0) ญี่ปุ่น (53.0) และยูโรโซน (63.1) ที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นในการลงทุนและเป็นโอกาสในการนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยอัตราค่าเงินบาท ณ 24 มิถุนายน 2564 เท่ากับ 31.801 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ 31.4898 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เพื่อเพิ่มอุปทานการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของโลก ซึ่งเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์

     มันสำปะหลังราคาอยู่ที่ 1.92 – 1.95 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.52 – 2.09 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงปลายเดือนมิถุนายน-เดือนกรกฎาคม 2564 ส่งผลดีต่อคุณภาพผลผลิตทำให้มีเชื้อแป้งอยู่ในระดับสูง และปัจจัยด้านค่าเงินบาทที่มีสัญญาณอ่อนค่าลงจะเป็นผลดีต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย

    สุกร ราคาอยู่ที่ 72.40-73.31 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.70–1.96 เนื่องจากพบการแพร่ระบาดไวรัส
โควิด-19 ในคลัสเตอร์โรงฆ่าสัตว์ของพื้นที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายเนื้อสุกรสำคัญของประเทศ ส่งผลให้เนื้อสุกรออกสู่ตลาดลดลง และการเจรจาทางการค้าของภาครัฐกับเวียดนาม เพื่อชี้แจงการไม่พบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของไทย ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการส่งออกสุกรขุนมีชีวิตจากไทยไปเวียดนามได้

      ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ข้าวเปลือกหอมมะลิราคาอยู่ที่ 10,544-10,641 บาท/ตันลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.03-2.93 เนื่องจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ จึงเป็นอุปสรรคในเรื่องการขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิสำคัญ ทำให้เกิดปัญหาการส่งมอบข้าวของไทย

     น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์กราคาอยู่ที่ 16.40-17.18 เซนต์/ปอนด์ (11.48-12.02 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.00-6.50 เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลของประเทศอินเดียที่เพิ่มขึ้น โดยสมาคมโรงงานน้ำตาลแห่งอินเดีย รายงานว่า ผลผลิตน้ำตาลของอินเดียเพิ่มขึ้นจาก 27.1 ล้านตัน มาอยู่ที่ 30.7 ล้านตัน (ช่วงเดือนตุลาคม 2563 – กลางเดือนมิถุนายน 2564) จากการหีบอ้อยที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีข้อมูลว่าผลผลิตน้ำตาลของบราซิลจะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้นจากปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทำให้คลายกังวลจากภัยแล้ง ส่งผลให้กองทุนและนักเก็งกำไรเร่งขายตั๋วน้ำตาลมากขึ้น

     ปาล์มน้ำมันราคาอยู่ที่ 5.47-5.73 บาท/กก.ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.17-4.70 เนื่องจากประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ปิดประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สามารถส่งออกน้ำมันปาล์มได้เพียงบางส่วน ประกอบกับสต็อกน้ำมันปาล์มของมาเลเซียยังคงอยู่ในระดับที่สูง จึงกดดันราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกให้ลดลง

     กุ้งขาวแวนนาไมราคาอยู่ที่ 140.58 – 141.29 บาท/กก.ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 – 1.00 เนื่องจากมีมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้านในพื้นที่เข้มงวดสูงสุด และมาตรการเข้มงวดในการเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการบริโภคในประเทศให้ลดลง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การส่งออกกุ้งแปรรูปของไทยที่ขยายตัวได้ดี ตามทิศทางการค้ากุ้งโลกที่ฟื้นตัว อาจทำให้ราคากุ้งมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ 

    โคเนื้อราคาเฉลี่ยจะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.03-0.34 อยู่ที่ราคา 95.80-96.10 บาท/กก. เนื่องจากความกังวลในโรคลัมปีสกินที่ระบาดในโคเนื้อ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคเนื้อโค ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนควรส่งเสริมความรู้ในการป้องกันโรคลัมปีสกินให้ประชาชนทั่วไปให้มีความเข้าใจอย่างทั่วถึง