กยท.ประกาศเดินหน้า “ชะลอขายยาง”ต่อ เตรียมนำร่องรับซื้อน้ำยางสด ในพื้นที่ภาคใต้เข้าโครงการด้วย

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                                   ณกรณ์ ตรรกวิรพัท     

กยท.เดินหน้าโครงการชะลอขายยาง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพาราหลังประสบผลสำเร็จในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้ได้ราคาส่วนต่าง กก.ละ 4.50 บาท พร้อมชูสหกรณ์กองทุนสวนยางพารานาดีปราจีนบุรี สามารถถึงสมาชิกเข้าร่วมโครงการเผลิตยางก้อนถ้วยแห้งถึงปีละ 2 แสน กก. เผยเป็นการรับรับนโยบายกระทรวงเกษตรฯผลักดันสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางสู่ภาคธุรกิจ ขณะที่พื้นที่ภาคใต้ จะนำร่องรับซื้อน้ำยางสดเข้าสู่โครงการฯ ด้วย

     นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์ปัจจุบันปริมาณผลผลิตยางในตลาดลดลง แต่การผลิตในอุตสาหกรรมยางยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่มียอดการผลิตสูงกว่าปีก่อนเกือบเท่าตัวในช่วงไตรมาสเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยังคงดำเนินมาตรการต่างๆ มาตลอด รวมถึงโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง

      ทั้งนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ที่ดำเนินการชะลอยางก้อนถ้วยแห้ง (DRC 75%) ตั้งแต่ปี 2563 ในพื้นที่ภาคเหนือจนประสบผลสำเร็จทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถขายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรมและได้ส่วนต่างของรายได้เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 4.50 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น ในปีนี้ กยท. จึงเดินหน้าดำเนินโครงการฯ ต่อเนื่องกระจายพื้นที่ในภาคอื่นๆคาดว่าจะสามารถดึงยางเข้าโครงการได้กว่า 50,000 ตัน

       นอกจากนี้ กยท.จะสนับสนุนเงินทุนเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ในการบริหารจัดการผลผลิตของสมาชิกวงเงินสินเชื่อ 80% ของมูลค่ายาง โดยกำหนดราคากลางรับซื้อจากราคาเฉลี่ยของตลาดกลางยางพารา กยท. ย้อนหลัง 15 วัน และขายยางผ่านสำนักงานตลาดกลางยางพารา หรือตลาดเครือข่ายสำนักงานตลาดกลางยางพาราของกยท. เท่านั้นสำหรับสถาบันเกษตรการที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับการ ยกเว้นดอกเบี้ยใน 3 เดือนแรกโดยยางก้อนถ้วยแห้ง(DRC 75%)ที่รับซื้อจะจัดเก็บไว้ที่สถาบันเกษตรกรฯ ในสภาพดีไม่เสียคุณภาพ

       นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า  ในปีนี้สหกรณ์กองทุนสวนยางพารานาดีปราจีนบุรี จำกัด จะเป็นกลุ่มเกษตรกรต้นแบบในการดำเนินโครงการของพื้นที่เขตภาคกลางและภาคตะวันออก คาดว่าจะมีผลผลิตยางก้อนถ้วยแห้ง(DRC 75%) ของสมาชิกสหกรณ์เข้าโครงการประมาณ 200,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ กยท. จะนำร่องรับซื้อน้ำยางสด DRC 100%ในพื้นที่เขตภาคใต้ตอนกลางเข้าสู่โครงการชะลอการขายยางฯ ด้วย

        “โครงการชะลอขายยาง ถือเป็นหนึ่งมาตรการที่ กยท. ดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางเป็นการสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรฯ ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เน้นการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในตลาด เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และStart up ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง สร้างความมั่นคงทางรายได้ให้เกษตรกร”ผู้ว่าการกล่าวทิ้งท้าย