สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์วันที่ 7-11 มิถุนายน 2564
ข้าวโพด : ราคาเพิ่มขึ้น
สัปดาห์นี้ ราคาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ เพิ่มขึ้นจากหาบละ 579 บาท เป็นหาบละ 585 บาท เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดลดลงต่อเนื่อง ต้องรอผลผลิตชุดใหม่ออก โดยแนวโน้มช่วงนี้ราคาสูงต่อเนื่อง
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 690.75 เซนต์/บุชเชล ราคาขยับตัวสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าพื้นที่เพาะปลูกหลักแถบมิตเวสท์จะมีปริมาณน้ำฝนเบาบางและอุณหภูมิจะสูงกว่าปกติ ทำให้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานคุณภาพข้าวโพดอยู่ในเกณฑ์ที่ดีถึงดีมาก (Good/Excellent Condition) อยู่ที่ 72% ปรับตัวต่ำลงกว่า 4% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่ปัจจัยสภาพอากาศที่แห้งแล้งส่งผลให้เกิดความกังวลต่อภาวะความเครียดในพืชบนพื้นที่เพาะปลูกหลักของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาข้าวโพดขยับตัวสูงขึ้น ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณสต๊อกในสหรัฐฯ ฤดูกาล 2563/64 ลดลงมาอยู่ที่ 1,207 ล้านบุชเชล เช่นเดียวกับข้าวโพดโลกที่ลดลงอยู่ที่ 280.82 ล้านตัน
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะยืนแข็ง
ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว
กากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 19.40 บาท การเพาะปลูกและสภาวะอากาศในฝั่งอเมริกายังคงดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ผลผลิตฤดูกาลใหม่ยังคงสูง ส่วนปริมาณซื้อจากจีนเริ่มชะลอตัวลง จากปัญหาการเลี้ยงสุกรที่มีโรค ASF ระบาด ทำให้มีความกังวลว่าความต้องการซื้อจากฝั่งเอเชียอาจลดลง ขณะที่ราคาค่าระวางเรือทั่วโลกยังคงทรงตัวในระดับสูง
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2564 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 1,562.50 เซนต์/บุชเชล และ กากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 386.40 เหรียญสหรัฐฯ/ช็อตตัน พื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองหลักเผชิญกับปริมาณน้ำฝนที่ลดน้อยลง ส่งผลให้ความชุ่มชื้นในดินลดลง และอาจเกิดความเครียดต่อพืชได้ (Crop stress)
ขณะที่รายงานความคืบหน้าการเพาะปลูกถั่วเหลืองฤดูกาล 2564/65 อยู่ที่ 90% สูงกว่าค่าเฉลี่ยห้าปีที่ 79% และมีถั่วเหลืองที่อยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมากที่ 67% ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่มี 72%
แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะยืนอ่อน
ปลาป่น : ราคาทรงตัว
การจับปลาในสัปดาห์ที่ผ่านมาของประเทศเปรูลดลงจากมรสุมที่กลับเข้ามา แต่ภาพรวมตั้งแต่เปิดฤดูกาลยังดีอยู่ ซึ่งขณะนี้จับปลาได้จริงแล้วเกิน 70% ของโควต้า ด้านผู้ซื้อหลักที่จีน ปริมาณซื้อหน้าท่าเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมิถุนายน สูงกว่าสามเดือนที่ผ่านมา ส่วนราคาซื้อปรับตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากยังมีปริมาณสต๊อกหน้าท่าค่อนข้างสูง
สัปดาห์นี้ ปลาป่นเกรดกุ้ง ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 52.00 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 39.70 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 37.20 บาท
ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ยืนราคากิโลกรัมละ 36.70 ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 34.20 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะทรงตัว
ข้าว : ราคาลดลง
สัปดาห์นี้ ราคาซื้อขายข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศทรงตัว โดย ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาลดลงจากตันละ 506 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 500 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ยืนราคาที่ตันละ 431 เหรียญสหรัฐฯ
ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาลดลงจากกระสอบละ 1,430 บาท เป็นกระสอบละ 1,410 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคาทรงตัวที่กระสอบละ 1,200 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะทรงตัว
สุกร : ราคายืนแข็ง
ราคาประกาศสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม จากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ณ วันพระที่ผ่านมา อยู่ที่กิโลกรัมละ 72-78 บาท โดยสถานการณ์ผลผลิตสุกรช่วงนี้มีออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่การท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรสูงขึ้น ทั้งนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติย้ำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศเพิ่มความเข้มข้นระบบ Biosecurity ของฟาร์ม เพื่อป้องกันโรค ASF ในระดับสูงสุด
ส่วนลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,400 บาท (บวก/ลบ 68)
แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะทรงตัว
ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว
การบริโภคเนื้อไก่ทรงตัว ส่งผลให้ราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์ม ตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 33 บาท
ด้านลูกไก่เนื้อ ราคาตัวละ 10.50 บาท และลูกไก่ไข่ ราคาตัวละ 28.00 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะทรงตัว
ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว
สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ประกาศราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ที่ฟองละ 3.00 บาท จากการบริโภคไข่ไก่ที่ดีอย่างต่อเนื่อง จากที่ผู้บริโภคเพิ่มปริมาณการซื้อไข่ไก่ เพื่อประกอบอาหารภายในครัวเรือน ในช่วงการระบาดของโควิด-19
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะทรงตัว
ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF