ซีพี-ซีพีเอฟ จับมือแม่โจ้ ร่วมวิจัยกัญชง หวังต่อยอดนำมาผสมอาหารเพื่อสุขภาพสู่ครัวโลก  

  •  
  •  
  •  
  •  

เครือเจิญโภคภัณฑ์-ซีพีเอฟ-จับมือมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมวิจัยกัญชง เพื่อนำสารสกัดที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร  ตอบโจทย์อาหารปลอดภัยสู่ “ครัวของโลก”ได้อย่างยั่งยืน

    วันที่16 มีนาคม 2564  นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นประธานและสักขีพยาน ในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ และความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชกัญชง ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มี นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และ รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้ลงนาม โดยมี นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และนายสุเมธ ภิญโญสนิท ประธานคณะผู้บริหาร บจ.เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส รวมถึงคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมงานด้วย ณ อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ ถ.สีลม  

     ข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มรายได้และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกษตรกร ตลอดจนสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้ประชาชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซีพีเอฟ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสารสกัดกัญชงอันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภคและนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงต้นทาง ทั้งสายพันธุ์ แหล่งเพาะปลูก และวิธีการปลูก ตอบโจทย์อาหารปลอดภัยสู่ “ครัวของโลก”ได้อย่างยั่งยืน โดยจะทำการวิจัยระบบมาตรฐานในการเพาะปลูก รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่คุณค่า 

     รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า  ความร่วมมือวิจัยพัฒนาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งในวงการการศึกษาของประเทศไทย ด้วยความชำนาญของทั้งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และความพร้อมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีหน่วยงานด้านพืชครบวงจรเข้ามาร่วมกันพัฒนา ขณะเดียวกันก็มีหน่วยงาน RD Center ของซีพีเอฟซึ่งมีความพร้อมในการวิจัยพัฒนาอาหาร ช่วยต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าให้ครบถ้วน อันจะเป็นส่วนสำคัญในการรองรับผลผลิตของเกษตรกรด้วย 

       “มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชงและกัญชา มาตั้งแต่ปี 2554 และมีความเชี่ยวชาญในการปลูกด้วยวิธีอินทรีย์ ปัจจุบันงานวิจัยพัฒนาพืชกัญชงและกัญชากำลังเป็นที่สนใจอย่างมาก แต่ไม่มีความร่วมมือใดที่จะครบถ้วนรอบด้านและมีความพร้อมเท่ากับความร่วมมือครั้งนี้ ผมมั่นใจว่าเราจะค้นพบสายพันธุ์ที่ดี มีเทคนิควิธีการปลูกที่ดี และใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนตอบสนองการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างเพียงพอ สร้างประโยชน์ต่อเกษตรกร ต่อผู้บริโภค และต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ” รศ.ดร.วีระพล กล่าว  

     ด้าน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CPF กล่าวว่า ซีพีเอฟ ตอบสนองนโยบายรัฐ และให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นอันดับหนึ่ง โดย CPF RD Center จะสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารที่เติมสารสำคัญจากพืชกัญชง ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงสายพันธุ์และแหล่งเพาะปลูก เพื่อตอบโจทย์สุขภาพและความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภค 

    “การวิจัยพัฒนาพืชกัญชงเป็นเรื่องท้าทาย ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและปลอดภัยต่อผู้บริโภค เมื่อได้ร่วมมือกับ ม.แม่โจ้ ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ เชื่อว่าจะสามารถผลิตพืชกัญชงคุณภาพ ในปริมาณที่มากพอสำหรับการผลิตอาหารของซีพีเอฟ โดยอาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชงซึ่งเป็นสารที่ดีต่อสุขภาพจะออกสู่ตลาดได้ภายในปีนี้ ขึ้นอยู่กับการประกาศของภาครัฐ” นายประสิทธิ์กล่าว  

      ทั้งนี้ พืชกัญชง เป็นพืชที่มีคุณค่าของสารสำคัญมากมาย อาทิ CBD ที่งานวิจัยในต่างประเทศพบว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน ทั้งระบบประสาทและสมอง ระบบหัวใจ นอกจากนี้ยังมีสารกลุ่มเทอร์ปีนที่ช่วยผ่อนคลาย และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่วนเมล็ดของพืชกัญชง มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เป็นแหล่งโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน รวมถึง มีไขมันโอเมก้า 3,6,9 ซึ่งดีต่อร่างกาย นอกจากนี้กากเมล็ดกัญชงยังนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ได้อีกด้วย   

      ความมหัศจรรย์ของกัญชงคือ เป็นพืชที่ดูดซึมสารอาหารจากดินได้ทั้งหมด ดังนั้นการควบคุมและระบบการจัดการเป็นเรื่องสำคัญ นอกเหนือจากสายพันธุ์ที่ต้องวิจัยและพัฒนามาอย่างดีเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้ได้กัญชงที่ปลอดภัยที่สุด ซึ่งเป็นต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตอาหาร  

      ความร่วมมือในการวิจัยพัฒนากัญชงอย่างครบวงจรตั้งแต่สายพันธุ์ การเพาะปลูก ไปจนถึงการแปรรูปเป็นอาหารนี้ จะสร้างประโยชน์ให้เกษตรกรมีสายพันธุ์และเทคนิควิธีดูแลพืชอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการในวิถีอินทรีย์ และนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นอาหารสำเร็จรูป จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของประเทศ ตอบโจทย์อาหารสุขภาพ ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ได้อีกทางหนึ่ง