ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนมีนาคม2564 ข้ามหอมมะลิ-ข้าวโพดฯ-ยาง-มันสำปะหลัง ส่อสดใส

  •  
  •  
  •  
  •  

สมเกียรติ กิมาวหา

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้การผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ระลอกใหม่ในประเทศไทยและการเปลี่ยนฤดูกาลในแต่ละพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนมีนาคม2564 ได้แก่ข้าวเปลือกหอมมะลิข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยางพาราแผ่นดิบมันสำปะหลังกุ้งขาวแวนนาไมมีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้าข้าวเปลือกเหนียวน้ำตาลทรายดิบปาล์มน้ำมัน และสุกรมีแนวโน้มราคาปรับลดลง

       นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส.คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมีนาคม2564โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิราคาอยู่ที่ 11,859-12,028 บาท/ตันเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.04-1.47 เนื่องจากสต็อกข้าวในยุ้งฉางของเกษตรกรลดลง และราคาส่งออกข้าวหอมมะลิไทยใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งขัน ทำให้ประเทศคู่ค้ามีการนำเข้าข้าวหอมมะลิมากขึ้น

      ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5%ราคาอยู่ที่ 8.27-8.33 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.20-1.00 เนื่องจากผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในฤดูแล้งมีเพียงร้อยละ 5ของปริมาณผลผลิตทั้งปี ขณะที่สัญญาข้าวสาลีส่งมอบเดือนพฤษภาคมปรับตัวขึ้นผู้ประกอบการจึงลดการนำเข้าข้าวสาลี ส่งผลให้ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเก็บสำรองไว้ปรับเพิ่มขึ้น

        ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3ราคาอยู่ที่ 51.22 – 51.89 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 – 1.80 เนื่องจากผลผลิตมีแนวโน้มลดลงจากยางพาราเข้าสู่ช่วงผลัดใบส่งผลให้เกษตรกรหยุดกรีดยางพารา ขณะที่ความต้องการน้ำยางพาราของตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการของรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำยางพาราสดสนับสนุนให้ราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

     มันสำปะหลังราคาอยู่ที่ 2.07-2.11 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.49 – 2.43 เนื่องจากความต้องการของผู้ประกอบการในการเก็บสต็อกผลผลิตมันเส้นเพื่อรองรับความต้องการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพอากาศที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลต่อคุณภาพเชื้อแป้งในหัวมันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์สูง

       กุ้งขาวแวนนาไมราคาอยู่ที่ 137.00 – 139.00 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.00 – 1.46 เนื่องจากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกษตรกรชะลอการลงลูกกุ้งตามความต้องการบริโภคที่ลดลง ส่งผลให้ผลผลิตลดลง ประกอบกับภาวะการค้าในประเทศมีความคล่องตัวขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการการระบาดของไวรัสโควิด-19 และตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครที่คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564

     ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15%ราคาอยู่ที่ 8,752-9,074 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.62-4.15 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังกำลังออกสู่ตลาด โดยคาดว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังจำนวน 4.6 ล้านไร่ ประกอบกับผลผลิตข้าวเวียดนามในช่วงปลายฤดูหนาวออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งผลผลิตข้าวในฤดูกาลนี้ถูกส่งออกสู่ตลาดโลกข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวราคาอยู่ที่ 10,685-10,725 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.05-0.42 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวเหนียวนาปรังกำลังออกสู่ตลาด

     น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์กราคาอยู่ที่ 16.54 – 16.70 เซนต์/ปอนด์ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.50-2.50 เนื่องจากแนวโน้มการผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นของประเทศอินเดีย โดยสมาคมการค้าน้ำตาลของประเทศอินเดียคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลของประเทศอินเดียในปี 2563/64 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 เป็น 29.9 ล้านตัน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ Tropical Research Services (TRS) ที่คาดการณ์ปริมาณน้ำตาลเกินดุลทั่วโลกในปี 2564/65 ที่ 5.2 ล้านตัน

       ปาล์มน้ำมันราคาอยู่ที่ 6.76 – 6.86 บาท/กก.ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.29 – 1.75 เนื่องจากคาดว่าปริมาณผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากการที่ต้นปาล์มน้ำมันได้รับน้ำฝนเพิ่มขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญ

        สุกรราคาอยู่ที่ 74.90-75.32 บาท/กก.ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.27–1.82 เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อสุกรภายในประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ จากที่ผ่านมาความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน อย่างไรก็ตาม ราคาสุกรจะลดลงไม่มากนัก เพราะยังมีความต้องการจากต่างประเทศอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร